ดอลลาร์กลับมาแข็งค่า หลังไวรัสสายพันธุ์เดลต้าระบาดในหลายประเทศ

ดอลลาร์สหรัฐ
(File Photo by JOEL SAGET / AFP)

ดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่า หลังไวรัสสายพันธุ์เดลต้าเริ่มแพร่กระจายในหลายประเทศ ขณะที่ค่าเงินบาททิศทางยังอ่อนค่า ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.92/95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 19-23 กรกฎาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (19/7) ที่ระดับ 32.84/86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (167) ที่ระดับ 32.74/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก หลังได้แรงหนุนมาจากการเปิดเผยข้อมูลทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งโดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐมีการเปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐในคืนวันศุกร์ (16/7) ที่ผ่านมา โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนมิถุนายนเมื่อเทียบเป็นรายเดือน สวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลง 0.4% หลังจากยอดค้าปลีกดิ่งลง 1.7% ในเดือนพฤษภาคม

ขณะที่ในวันอังคาร (20/7) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านซึ่งปรับเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนมิถุนายน สู่ระดับ 1.643 ล้านยูนิต สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.590 ล้านยูนิต โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในตลาด

นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้รับปัจจัยหนุนในฐานะเงินสกุลปลอดภัย หลังเมื่อคืนวันจันทร์ (19/7) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ (CDC) แถลงว่าจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้พุ่งขึ้นในสหรัฐ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า

โดยสหรัฐมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ย 30,000 รายต่อวันในช่วง 7 วันที่ผ่านมา สูงกว่าค่าเฉลี่ย 11,000 รายต่อวันในเดือนมิถุนายน ซึ่งทำให้นักลงทุนมีความกังวลต่อการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้ามากขึ้น หลังเชื้อได้ลุกลามไปมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ทำให้นักลงทุนเทขายสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยงและเข้าถือเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินปลอดภัยมากขึ้น

อย่างไรก็ดีในวันพฤหัสบดี (22/7) ค่าเงินดอลลาร์ได้เริ่มปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย หลังจากตลาดหุ้นทั่วโลกดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ขานรับผลประกอบการที่ดีเกินคาดของบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ รวมถึงแรงขายดอลลาร์เพื่อทำกำไรของนักลงทุนในตลาด

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทยังมีทิศทางอ่อนค่าโดยได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ที่ยังน่ากังวล โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง และทำสถิติสูงสุดใหม่ทุกวัน

ทั้งนี้ในวันจันทร์ (19/7) ที่ผ่านมา ทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบค.) ได้ออกมาแถลงชี้แจงมาตรการควบคุมซึ่งระบุเป็น “มาตรการล็อกดาวน์ชั้นสูงสุด” ในพื้นที่ 13 จังหวัดสีแดงเข้ม โดยขอให้ประชาชนงดออกจากเคหสถานหรือที่พำนักโดยไม่จำเป็นในเวลากลางวัน ยกเว้นเพื่อจัดหาอาหาร ยา พบแพทย์ รับวัคซีน และอาชีพจำเป็น โดยมีผลตั้งแต่วันอังคารที่ 20 เป็นต้นมา

ส่วนมาตรการเคอร์ฟิวในตอนกลางคืนยังคงงดออกจากเคหสถานในเวลา 21.00-04.00 น.เช่นเดิม ทั้งนี้ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.78-32.93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (23/7) ที่ระดับ 32.92/95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (19/7) ที่ระดับ 1.1805/06 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/7) ที่ระดับ 1.1818/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลมาจากความกังวลของนักลงทุนต่อสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันส่งผลให้ตลาดโดยรวมได้เข้าสู่ภาวะที่ปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-off)

ซึ่งจากยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้เศรษฐกิจยุโรปได้รับผลกระทบด้านการท่องเที่ยวโดยเฉพาะช่วงนี้ที่เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) โดยในสัปดาห์นี้ทางฝั่งยุโรปมีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อย

ขณะที่ประเด็นสำคัญที่นักลงทุนให้ความสนใจอยู่ที่การประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสบดี (22/7) ที่ผ่านมา โดยค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงอีกครั้งหลังจากที่มีการดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 1.8000 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโรก่อนการประชุม

ทั้งนี้ที่ประชุม ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรืออัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.50% ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25% นอกจากนี้ ECB ยังมีมติคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) ที่ระดับ 1.85 ล้านล้านยูโร ซึ่ง ECB จะซื้อพันธบัตรตามโครงการดังกล่าวจนถึงเดือนมีนาคม 2565 โดยจะซื้อพันธบัตรในวงเงิน 2 หมื่นล้านยูโร/เดือน

อย่างไรก็ดี ECB ได้ปรับเป้าหมายเงินเฟ้อในระยะกลาง “อยู่ที่ระดับ 2%” จากเดิมที่กำหนดให้ “อยู่ใกล้ แต่ไม่เกินระดับ 2%” ขณะเดียวกัน ECB ระบุว่า ทางธนาคารจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าเงินเฟ้อแตะระดับเป้าหมาย 2% ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า ECB จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีก 2 ปี เนื่องจาก ECB คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า เงินฟ้อในยูโรโซนจะยังไม่แตะระดับ 2% อย่างน้อยในอีก 2 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1750-1.1824 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (23/7) ที่ระดับ 1.1770/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (19/7) ที่ระดับ 109.86/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/7) ที่ระดับ 110.07/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยในวันจันทร์ (19/7) ค่าเงินเยนได้แรงหนุนจากการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารสด ที่ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนมิถุนายน เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนพฤษภาคมจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามดัชนี CPI พื้นฐานยังคงห่างจากเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) แต่การที่ตัวเลขเงินเฟ้อยังคงปรับเพิ่มแม้จะเล็กน้อย ก็ช่วยทำให้กรรมการ BOJ คลายความกังวลได้ในระดับหนึ่ง ในขณะที่ด้านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เปิดเผยรายเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยมุมมองช่วง 3 เดือนข้างหน้า คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปัจจุบัน โดยธุรกิจต่าง ๆ ยังคงได้รับผลกระทบแต่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นมา

อย่างไรก็ดีค่าเงินเยนได้เริ่มปรับตัวอ่อนค่าลงอีกครั้งในช่วงกลางสัปดาห์จากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.23% ถึงแม้ว่าในวันพุธ (21/7) รัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดเผยยอดส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 พุ่งขึ้น 32.2% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวแข็งแกร่งที่สุดในรอบ 11 ปี สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้น

ส่วนยอดนำเข้าในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัว 12.2% เมื่อเทียบรายปี ตัวเลขดังกล่าวทำให้ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลการค้า 9.8499 แสนล้านเยนในช่วง 6 เดือนแรกของปี ซึ่งเป็นการเกินดุลรอบครึ่งปี 2 ครั้งติดต่อกัน

อนึ่งกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นได้ออกมาแถลงว่าในสัปดาห์นี้นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จะได้พบกับผู้นำอีกหลายชาติและหลายองค์กร รวมทั้งนางจิล ไบเดน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐ ซึ่งจะเดินทางเยือนญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดโตเกียวโอลิมปิกในวันศุกร์นี้


ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.78-110.35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (23/7 ที่ระดับ 110.38/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ