เศรษฐกิจภูมิภาคเดือน มิ.ย. ทรุด! “การบริโภค-ลงทุน” ชะลอตัว 

เศรษฐกิจ

คลัง เผยเศรษฐกิจภูมิภาคเดือน มิ.ย. 64 ชะลอตัวลง ทั้ง “การบริโภคอุปโภค-การลงทุนภาคเอกชน” ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค-ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง หลังกังวลโควิด 

วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมิถุนายน 2564 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนมิถุนายน 2564 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนในหลายภูมิภาค อันเป็นผลจากการบริโภคอุปโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวลง รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19)อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจภาคตะวันออก และ กทม.และปริมณฑลยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดดังนี้

เศรษฐกิจด้านบริโภคภาคตะวันออกลดลง ดัชนีความเชื่อมั่นลดเหลือ 46%

สำหรับเศรษฐกิจภาคตะวันออก ขยายตัวในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนทั้งจากการบริโภคอุปโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนสะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่และรายได้เกษตรกร ขยายตัวร้อยละ 48.2 41.9 และ 51.1 ตามลำดับส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 0.5 14.2 และ 23.9 ตามลำดับ

เช่นเดียวกับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนสะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 20.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและขยายตัวร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล นอกจากนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวสูงที่ร้อยละ 212.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและขยายตัวร้อยละ 21.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ด้วยจำนวนเงินทุนสูงถึง4.8 พันล้านบาท จากโรงงานทำน้ำเชื่อมน้ำตาลไอซิ่งการทำส่วนผสมสำหรับทำอาหารจากแป้ง ในจังหวัดชลบุรี และโรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะชุมชน กำลังการผลิต 9.8 เมกะวัตต์ ในจังหวัดระยอง เป็นสำคัญ  

ทั้งนี้ ในด้านความเชื่อมั่นพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 105.0 จากระดับ 104.1 ในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงมาอยู่ที่ระดับ46.0 จากระดับ 47.6 ในเดือนก่อนหน้าเศรษฐกิจ กทม.และปริมณฑลขยายตัวในอัตราที่สูงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าโดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง

โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนสะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 10.9 และ 75.7 ตามลำดับ และขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 10.2 และ 40.1 ตามลำดับ นอกจากนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวร้อยละ 8.9 และขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลถึงร้อยละ 56.7 ด้วยจำนวนเงินทุน3.3 พันล้านบาทจากโรงงานการซ่อมรถยนต์และเคาะพ่นสีรถยนต์ ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นหลัก 

สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนสะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ชะลอลงร้อยละ -2.1 และ -19.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนหน้าตามลำดับในขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกร ขยายตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนที่ร้อยละ 17.0 และ 16.3 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 4.9 และ 4.0 ตามลำดับ ทั้งนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง มาอยู่ที่ระดับ 41.7 และ 80.1 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 43.4 และ 81.9 ตามลำดับ 

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคกลางลดลง รายได้เกษตรกรหดตัว -21% เมื่อเทียบปีที่แล้ว

ส่วนเศรษฐกิจภาคกลาง ขยายตัวได้เมื่อเทียบกับปีก่อนแต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงโดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนสะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 20.7 และ 30.7 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้วชะลอตัวลงร้อยละ -3.7 และ -14.7 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรชะลอลงเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนหน้าร้อยละ -21.0 และ -4.6 ตามลำดับ สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนสะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ร้อยละ 24.3 และ 61.7 ตามลำดับแต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลชะลอตัวลงร้อยละ -4.6 และ -12.8ตามลำดับนอกจากนี้เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 512.0แต่ชะลอตัวลงร้อยละ-64.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลด้วยจำนวนเงินทุน 4.0 พันล้านบาทจากโรงงานตัดโลหะในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นสำคัญสำหรับ นอกจากนี้หากพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 42.1 และ 80.1 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 43.5 และ 81.9 ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคใต้ชะลอลง “ความเชื่อมั่นผู้บริโภค-ภาคอุตสาหกรรม” ปรับตัวลดลง

ขณะที่เศรษฐกิจภาคใต้ขยายตัวได้เมื่อเทียบกับปีก่อนแต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนสะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 40.6 และ 23.5 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลชะลอตัวลงร้อยละ -1.3 และ -13.4 ตามลำดับ 

ในขณะภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ -15.9 แต่ขยายตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลสำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนสะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 13.0 และ 48.1 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลชะลอตัวลงร้อยละ -4.1 และ -8.0 ตามลำดับ

อย่างไรก็ดีเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวร้อยละ 57.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและขยายตัวร้อยละ 956.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลด้วยจำนวนเงินทุน1.1 พันล้านบาท จากโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานชีวมวล กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นสำคัญทั้งนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 39.5 และ 82.0 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 41.0 และ 84.3 ตามลำดับ 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “การบริโภค-ลงทุน” ชะลอตัวลง

ด้านเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือชะลอตัวลง ทั้งจากการบริโภคอุปโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงโดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนสะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้วร้อยละ -20.3 และ -2.7 ตามลำดับ ในขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ 

และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 19.7 และ 21.4 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้วชะลอตัวลงร้อยละ -0.3 และ -17.3 ตามลำดับสอดคล้องกับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนสะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 3.7 และ 33.1 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลชะลอตัวลงร้อยละ -3.6 และ -7.9 ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวร้อยละ 118.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและขยายตัวร้อยละ 81.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้วด้วยจำนวนเงินทุน1.0 พันล้านบาท จากโรงงาน ฆ่า ชำแหละเนื้อไก่และแปรรูปชิ้นส่วนไก่เนื้อเพื่อการส่งออก ในจังหวัดขอนแก่น เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง มาอยู่ที่ระดับ 47.1 และ 71.3 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 48.4 และ 72.5 ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคเหนือ “บริโภค-ลงทุน” ชะลอตัวลง

เศรษฐกิจภาคเหนือชะลอตัวลง ทั้งจากการบริโภคอุปโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงโดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลงสะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ -16.3 และ -5.9 ตามลำดับในขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 30.0 และ 28.1 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลชะลอตัวลงร้อยละ -4.0 และ -13.8 ตามลำดับสอดคล้องกับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนสะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ -12.9 และ -3.4 ตามลำดับ

ในขณะที่เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการกลับมาขยายตัวร้อยละ 14.5 แต่ชะลอตัวลงร้อยละ -13.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลด้วยจำนวนเงินทุน1.5 พันล้านบาทจากโรงงานผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า (โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงชีวมวล) ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 9.500 กิโลวัตต์ ในจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นหลัก ทั้งนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง มาอยู่ที่ระดับ 45.8 และ 59.0 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 47.2 และ 60.0 ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคตะวันตกชะลอตัวทั้ง “บริโภค-การลงทุน”

ทั้งนี้ เศรษฐกิจภาคตะวันตกชะลอตัวลง ทั้งจากการบริโภคอุปโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงโดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนสะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ -9.6 และ -27.2 ตามลำดับ 

ในขณะที่จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 19.8 และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลชะลอตัวลงร้อยละ -14.6 เช่นเดียวกับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนสะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ และจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ -94.9 และ -2.3 ตามลำดับ และชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -30.5 และ -6.0 ตามลำดับ นอกจากนี้หากพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง มาอยู่ที่ระดับ 42.1 และ 80.1 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 43.5 และ 81.9 ตามลำดับ