ธปท.จับจุดวิกฤตการเงิน 20 ปีก่อน ย้ำพร้อมดูแลความมั่นคงทางการเงิน

ธปท.เผยเรียนรู้จากวิกฤตการเงิน 20 ปีก่อน ย้ำจุดยืนดูแลความมั่นคงทางการเงินพร้อมรับ 2 ความท้าทาย ในภาวะสภาพคล่องล้นโลก และเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนระบบการเงิน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Bangkok post Forum 2017 Asean@50 in Retrospect ในหัวข้อ “20 Years after the Financial Crisis : Reeling from ripples” ว่า จากวิกฤตทางการเงินเมื่อ 20 ปี ก่อน ถือเป็นปัญหาที่แก้ได้ยาก ดังนั้นบทบาทของธนาคารกลางย่อมมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ ในบริบทที่สภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

ทั้งนี้การป้องกันการเกิดวิกฤตทางการเงินมี 2 ความท้าทาย ได้แก่ 1.เมื่อโลกมีสภาพคล่องทางการเงินส่วนเกินภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำให้เกิดภาวะ search for yield หรือ การแสวงหาผลกำไร ซึ่งเป็นหน้าที่ของธนาคารกลางที่ต้องดูแลความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว

และความท้าทายที่ 2.เมื่อเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ทำให้เกิดภูมิทัศน์ใหม่ เช่น มีผู้เล่นใหม่เข้ามาในตลาด ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลิตภาพ ลดต้นทุน แม้จะข้อดีในหลายด้าน แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ธนาคารกลางจึงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด การป้องกันภัยทางไซเบอร์

นอกจากนี้เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ 20 ปีก่อนเกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศที่เจอปัญหาจะใช้ระยะเวลาเท่าไรในการฟื้นตัว ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของแต่ละประเทศ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันอย่างไรบ้าง โดยจะเห็นบทเรียนทั้งจากสหรัฐ และยุโรป