เริ่มแล้ว! กยศ. เปิดปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์ ลดเงินงวด-ผ่อนยาว 30 ปี

กยศ. เปิดให้ลูกหนี้ที่ยังไม่ถูกฟ้อง 1.7 ล้านราย ขอปรับโครงสร้างหนี้ผ่อนออนไลน์ เริ่ม 1 ส.ค.นี้ “ลดเงินงวด ผ่อนยาว 30 ปี” พร้อมลดการหักเงินเดือนเหลือขั้นต่ำ 10 บาท บรรเทาผลกระทบจากโควิด

วันที่ 1 สิงหาคม 2564 นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.เป็นต้นไป กยศ. ได้เปิดให้ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระหนี้ที่ยังไม่ถูกฟ้องคดีจำนวนกว่า 1.7 ล้านคน ให้เข้ามาแจ้งความประสงค์ขอปรับโครงสร้างหนี้ได้แล้วแบบภาคสมัครใจ ผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งแอปพลิเคชั่น กยศ.Connect หรือทางเว็บไซต์ https://wsa.dsl.studentloan.or.th เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้กู้ยืมช่วงการแพร่ระบาดของโควิดตามนโยบายของกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ ตามขั้นตอนเมื่อผู้กู้ยืมแจ้งขอปรับโครงสร้างหนี้แล้ว กยศ.จะมีการตรวจสอบรายละเอียดของผู้กู้ หากตรวจสอบเสร็จจะมีการติดต่อกลับไปเพื่อนัดทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ฉบับใหม่ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนเงื่อนไขเพื่อให้เงินงวดชำระต่อเดือนลดลง และมีระยะเวลาในการผ่อนชำระนานขึ้น โดยผ่อนได้สูงสุด 30 ปี แต่เงินงวดสุดท้ายผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปี ตลอดจนมีส่วนลดเบี้ยปรับให้ชำระในงวดสุดท้ายด้วย

นอกจากนี้ กยศ.ยังได้ปรับลำดับตัดชำระหนี้ สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระเงินคืนกองทุนที่ยังไม่ถูกฟ้องคดี จากเดิมที่ใช้วิธีการตัดเบี้ยปรับ ดอกเบี้ย และเงินต้น กองทุนจะปรับเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่ โดยจะนำเงินที่ได้รับชำระไปตัดเงินต้น ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ

ส่วนผู้กู้ยืมที่ถูกหักเงินเดือนจากนายจ้างโดยตรง กยศ.ได้เปิดให้ผู้กู้ยืมสามารถแจ้งความประสงค์ขอปรับจำนวนเงินดังกล่าวผ่านแอปพลิเคชั่น กยศ.Connect ได้แล้วเช่นกัน โดยสามารถขอปรับลดจำนวนเงินที่หักเหลือเพียง 10 บาทต่อเดือน มีผลตั้งแต่เดือน ส.ค.64-มิ.ย.65 แต่ผู้กู้ยังคงมีหน้าที่ไปชำระส่วนต่างตามจำนวนเงินงวดที่ต้องชำระตามเงื่อนไขของสัญญา

นายชัยณรงค์กล่าวว่า แนวทางช่วยเหลือด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้กู้ยืมกลุ่มก่อนฟ้องคดีได้ โดยจะได้รับทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับเปลี่ยนลำดับตัดชำระหนี้ และเปลี่ยนเงื่อนไขการผ่อนชำระ ส่วนผู้กู้ยืมที่ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ในช่วงนี้ กองทุนจะมีการลดเบี้ยปรับให้เหลือเพียง 0.5% รวมทั้งชะลอการฟ้องคดี บังคับคดี ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความ รวมถึงจะช่วยงดการขายทอดตลาดไว้จนถึงสิ้นปีนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม การออกมาตรการช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ให้มีระยะเวลาผ่อนได้นานขึ้น เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการบริหารกระแสเงินสดของกองทุนฯ เพราะแม้จะมีเงินผ่อนชำระเข้ามาแต่ละปีลดลง และใช้เวลานานขึ้น แต่ก็เชื่อว่าจะมีจำนวนผู้กู้ยืมกลับมาผ่อนชำระได้มากกว่าเดิม โดยปี 64 คาดว่า กยศ.คาดว่าจะมียอดผ่อนชำระเข้ามาไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 28,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ กยศ.ยังได้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการผ่อนชำระเงินคืน สำหรับผู้กู้ยืมรายใหม่ และผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างปลอดหนี้และยังไม่ครบกำหนดชำระหนี้ จากเดิมที่ผ่อนชำระเป็นรายปี กองทุนจะปรับให้ผ่อนชำระเป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน และเพิ่มระยะเวลาการผ่อนชำระจากเดิมไม่เกิน 15 ปี เป็นไม่เกิน 30 ปี ขึ้นอยู่กับยอดหนี้ของผู้กู้ยืมแต่ละราย แต่ในการชำระเงินงวดสุดท้ายผู้กู้ยืมจะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์อีกด้วย