ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนต่ำสุดในรอบ 9 เดือน

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย(FETCO) เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ต.ค. 64) ปรับตัวลดลง 39.3% จากเกณฑ์ “ทรงตัว” เดือนก่อนมาอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” และต่ำสุดในรอบ 9 เดือน นักลงทุนคาดหวังแผนฉีดวัคซีน-เศรษฐกิจฟื้นตัว ขณะที่กังวลการระบาดที่อาจรุนแรงขึ้น-ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

วันที่ 3 สิงหาคม 2564 นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน ก.ค. 2564 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 64.37 ปรับตัวลดลง 39.3% จากเกณฑ์ “ทรงตัว” เดือนก่อนมาอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” และต่ำสุดในรอบ 9 เดือน

นักลงทุนคาดหวังแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ Covid-19 เป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด ซึ่งส่วนนี้มองว่ารัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งเรื่องวัคซีนที่ไม่เพียงพอและการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในแต่วันยังไม่ถึงเป้า จึงนำไปสู่การประกาศล็อกดาวน์ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจเกิดการถดถอย

รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และนโยบายภาครัฐ ที่จะเข้ามาซัพพอร์ตทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้น

สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ระลอกปัจจุบันที่รุนแรงขึ้น รองลงมาคือความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน สำรวจในเดือนมิถุนายน 2564 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ตุลาคม 2564) อยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” (ช่วงค่าดัชนี 40-79) ปรับตัวลดลง 39.3% จากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 64.37

– หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON)

– หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดแฟชั่น (FASHION)

– ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ แผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์
Covid-19

– ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ระลอกปัจจุบันที่รุนแรงขึ้น

ขณะที่รายกลุ่มนักลงทุน พบว่าความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับตัวลดลง 40.1% อยู่ที่ระดับ 65.79 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง 40% อยู่ที่ระดับ 50.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวลดลง 55.5% อยู่ที่ระดับ 57.89 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับตัวลดลง 33.3% อยู่ที่ระดับ 66.67

ทั้งนี้ในเดือนกรกฎาคม สถานการณ์โรคระบาด Covid-19 ในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นมาก รวมถึงความไม่ชัดเจนของการจัดหาและกระจายฉีดวัคซีน เป็นปัจจัยหลักที่กดดันต่อการเคลื่อนไหวของ SET index ตลอดทั้งเดือน และปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของเดือน หลังจากมีการออกมาตรการ Lockdown เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด และค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบให้กระแสเงินลงทุนของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศทยอยไหลออกจากตลาดหุ้นไทยกว่า 17,700 ล้านบาทในเดือนกรกฎาคม

อย่างไรก็ตาม ตลาดทุนไทยยังได้แรงหนุนจากปัจจัยภายใน อาทิ การประกาศมาตรการเยียวยากลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ Lockdown ในพื้นที่ 10 จังหวัดสีแดงเข้ม และมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปา วงเงินรวม 42,000 ล้านบาทจากรัฐบาล อีกทั้งปัจจัยภายนอก เช่น การประกาศคงดอกเบี้ยนโยบายของ ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจท่ามกลางความเสี่ยงที่ยังมีอยู่สูง ส่งผลให้ SET index ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 ปิดที่ 1,521.92 จุด ปรับตัวลดลง 4.15% จากเดือนก่อนหน้า

ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การประชุมแจ็คสันโฮล( Jackson Hole Symposium) วันที่ 26-28 ส.ค. 2564 ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจมีการส่งสัญญาณการทำ QE Tapering การควบคุมและการออกกฎระเบียบจากทางการจีนซึ่งกระทบต่อบรรยากาศ (sentiment) ในการลงทุนหุ้นจีนโดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

รวมทั้งความขัดแย้งใน “โอเปก” ซึ่งอาจส่งผลต่อความผันผวนของราคาน้ำมันโลก ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่อาจกระทบต่อการลงทุน ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชนที่อาจจะถูกกระทบอย่างหนักจากมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดขึ้น สภาวการณ์ของเศรษฐกิจไทยที่น่าจะฟื้นตัวได้ยาก

เนื่องจากแผนการเปิดประเทศเต็มรูปแบบภายในปีนี้ตามเป้าหมายรัฐบาลที่อาจจะไม่เป็นไปตามแผน ดังนั้น แนวทางการกระตุ้นการดำเนินนโยบายการคลังของภาครัฐเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่น่าติดตามซึ่งจะส่งผลต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย