BGC กางแผนครึ่งปีหลัง ขยายงาน “ถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน” คุมเข้มต้นทุน

“บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส” (BGC) กางแผนครึ่งปีหลัง เดินหน้าลงทุนขยายกำลังการผลิต “ถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน” สูงสุด 50 ล้านเมตรต่อปี ผ่านบริษัทย่อย วางเป้าเติบโตต่อเนื่องหลังควบรวมกิจ “BGP-BVP” หนุนผลการดำเนินงาน คุมเข้มบริหารต้นทุนการผลิตเพิ่มอัตรากำไร-ดันสัดส่วนรายได้ส่งออกเป็น 10%

วันที่ 18 สิงหาคม 2564 นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วรายใหญ่ในไทยและภูมิภาคอาเซียน เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทมุ่งเน้นการเร่งลงทุนก่อสร้างเตาหลอมแก้วแห่งใหม่ภายในโรงงานจังหวัดราชบุรี และลงทุนขยายกำลังการผลิตในโรงงานจังหวัดปราจีนบุรี หลังได้รับการอนุมัติแผนลงทุนจากคณะกรรมการบริษัทเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

เพื่อขยายกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นอีก 440 ตันต่อวัน ใช้งบฯลงทุนรวม 2,500 ล้านบาท โดยโรงงานดังกล่าวจะใช้เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ สามารถควบคุมอุณหภูมิและต้นทุนด้านพลังงานได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งมีความยืดหยุ่นในการผลิตสูง เพื่อรองรับความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์แก้วจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มเติบโตสูงในอนาคต คาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างจนแล้วเสร็จอีกประมาณ 18 เดือน ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตรวมทุกโรงงานเพิ่มขึ้นจาก 3,495 ตันต่อวัน เป็น 3,935 ตันต่อวัน ครองส่วนแบ่งการตลาดผู้นำด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วในประเทศ

ล่าสุดบริษัทพร้อมเดินหน้าใช้งบฯลงทุน 176 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน สูงสุด 50 ล้านเมตรต่อปี ผ่านบริษัท บีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (BGP) ที่เป็นบริษัทย่อย หลังได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทเป็นที่เรียบร้อย เพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงและรุกขยายฐานลูกค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

รวมไปถึงเป็นการสร้างโอกาสต่อยอดรุกเข้าสู่ธุรกิจกลางน้ำเพื่อผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน (Flexible Packaging) รองรับเป้าหมายการเติบโตของกลุ่มบรรจุภัณฑ์ในอนาคต คาดว่าจะเริ่มการลงทุนก่อสร้างในไตรมาส 1/2565 และผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในไตรมาส 1/2566

พร้อมกันนี้มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนเพื่อรับมือราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น โดยได้นำเทคโนโลยีด้านซอฟต์แวร์ที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในกระบวนการควบคุมการปล่อยพลังงานภายในเตาหลอมแก้ว เพื่อทำให้การควบคุมระดับอุณหภูมิมีความเสถียรมากยิ่งขึ้น การปรับสูตรการผลิตและสัดส่วนวัตถุดิบ เช่น เศษแก้วให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมถึงเลือกใช้เชื้อเพลิงพลังงานทางเลือก เช่น น้ำมันเตา น้ำมันฟีนอล ที่มีผลกระทบด้านราคาต่ำกว่าแก๊สธรรมชาติ ส่งผลต่ออัตรากำไรที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีความสามารถในการแข่งขัน และนำพาให้บริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ระดับสากล เพื่อปูพื้นฐานไปสู่การแข่งขันเชิงรุก

นายศิลปรัตน์กล่าวเพิ่มว่า แผนงานครึ่งปีหลังวางเป้าหมายรักษาการเติบโตในระดับเดียวกับช่วงครึ่งปีแรกและเติบโตใกล้เคียงกับช่วงก่อนสถานการณ์ COVID-19 ในปี 2562 อย่างไรก็ตามคาดว่าความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์จะได้รับผลกระทบชั่วคราวจากการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ หากมีการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวและมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง มั่นใจว่าดีมานด์ด้านบรรจุภัณฑ์จะกลับมาเติบโตอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ตลาดต่างประเทศคาดว่าจะเติบโตได้ดี โดยวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้ส่งออกในปี 2564 เป็น 10% ของรายได้รวม โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกาที่มีแนวโน้มที่ดีจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จึงคาดว่ายอดขายปีนี้จะเติบโตทั้งจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วและจากการควบรวมกิจการในบริษัท BGP และบริษัท บางกอกบรรจุภัณฑ์ จำกัด (BVP) ซึ่งมียอดขายในปีนี้รวมประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา

“จะช่วยเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจหลักของเราอย่างบรรจุภัณฑ์แก้วด้วยการนำเสนอบริการแบบครบวงจร (One stop service) ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์แก้ว พร้อมฉลาก ฝา และกล่องกระดาษ ซึ่งจะยกระดับสู่การเป็น Total Packaging Solutions หรือผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร”