โควิดเดลต้าฉุดธุรกิจ ทำเอสเอ็มอีเจ็บหนัก

Photo by AFP
คอลัมน์ Smart SMEs
ttb analytics

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ เข้ามาซ้ำเติมจากสถานการณ์ในรอบแรกส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งยังไม่สามารถพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับสู่ภาวะปกติได้

ทำให้สถานการณ์ทางการเงินของธุรกิจ SMEs ยังคงน่าเป็นห่วง และต้องเฝ้าระวังกันเป็นพิเศษ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของหนี้เสีย (NPL) ในแต่ละอุตสาหกรรมที่สำคัญ โดยเปรียบเทียบช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 กับสถานการณ์ปัจจุบันพบว่า ยอดหนี้เสีย (NPL) ในกลุ่มธุรกิจ SMEs มีการปรับเพิ่มขึ้นในภาพรวมถึง 3% ซึ่งหากวิเคราะห์เป็นรายอุตสาหกรรม สามารถแยกออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการล็อกดาวน์และการปิดประเทศ ได้แก่ ธุรกิจขนส่ง โรงแรม และร้านอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างหนัก โดยมูลค่าของ NPL เพิ่มขึ้น 63% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาด

ในขณะที่ธุรกิจให้เช่าสถานที่เพื่อการค้ามี NPL เพิ่มขึ้น 200% ธุรกิจการขนส่งผู้โดยสาร NPL เพิ่มขึ้น 129% ธุรกิจภาคบริการ NPL เพิ่มขึ้น 42% และธุรกิจค้าปลีก NPL เพิ่มขึ้น23% จะพบว่ากลุ่มธุรกิจเหล่านี้ถูกผลกระทบค่อนข้างหนัก

กลุ่มที่ 2 ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากผลกระทบจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง แม้ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ปริมาณ NPL ก็สูงขึ้นเช่นกัน ได้แก่ ธุรกิจค้าขายวัสดุก่อสร้าง NPL เพิ่มขึ้น19%

ธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ NPL เพิ่มขึ้น 19% และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ NPL เพิ่มขึ้น 11% ซึ่งการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ยิ่งเป็นการซ้ำเติมธุรกิจในกลุ่มเหล่านี้ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดที่มีมาตรการควบคุมขั้นสูงสุด

ทั้งนี้ แนวทางมาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ มาตรการการพักชำระหนี้ 2 เดือน ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 สามารถยื่นความจำนงพักชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม-15 สิงหาคม 2564 นั้น

เพื่อบรรเทาภาระการชำระหนี้สิน และประคองธุรกิจเหล่านี้ให้เดินต่อไปได้ในยามที่โรคโควิด-19ยังคงแพร่ระบาดอยู่อย่างน้อย 2 เดือนต่อจากนี้ เป็นอีกทางที่จะต่อลมหายใจ ซึ่งจะช่วยพยุงสถานการณ์ทางการเงินของ SMEs ในระยะนี้ได้

ซึ่งหากแผนการฉีดวัคซีนคืบหน้าครอบคลุม 70% ของประชากรได้ตามเป้าหมายของภาครัฐ ก่อนไตรมาส 4 ปี 2564 ภาครัฐน่าจะทยอยผ่อนคลายล็อกดาวน์

ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อย ๆกลับมาฟื้นได้ในช่วงท้ายปีนี้ ดังนั้นในช่วงไตรมาส 3 นี้ ผู้ประกอบการ SMEs ที่เดือดร้อนควรใช้สิทธิ์เข้าร่วมมาตรการเพื่อพยุงธุรกิจ และรอวันที่ธุรกิจกลับมาเดินเครื่องได้อีกครั้ง