เงินบาทอ่อนค่าสุด 33.00 บาทต่อดอลลาร์ จับตา 5-6 ปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า

เงินบาท

เงินบาทอ่อนค่าสุดผ่านแนว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯอีกครั้ง ขณะที่หุ้นไทยเผชิญแรงขายลดเสี่ยงช่วงปลายสัปดาห์ จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า ทั้งการประชุมเฟด (21-22 ก.ย.) สถานการณ์โควิด ประเด็นการเมืองไทย ตัวเลขส่งออกเดือนส.ค. ของไทย ทิศทางเงินลงทุนจากต่างประเทศ ตลอดจนประเด็นการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาฯรายใหญ่ของจีน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาทอ่อนค่าผ่านแนว 33.00 มาแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 3 สัปดาห์ที่ 33.26 บาทต่อดอลลาร์ฯ สอดคล้องกับแรงขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ (ภาพรวมทั้งสัปดาห์ขายสุทธิทั้งสิ้น 26,800 ล้านบาท)

ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังจากข้อมูลยอดค้าปลีก และผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียที่ออกมาดีกว่าที่คาด กระตุ้นให้มีแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ เนื่องจากประเมินว่า เฟดอาจให้สัญญาณบางอย่างเกี่ยวกับการปรับลดวงเงิน QE ในการประชุมวันที่ 21-22 ก.ย.นี้

ในวันศุกร์ (17 ก.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 33.22 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 32.67 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (10 ก.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (20-24 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.70-33.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุม FOMC (21-22 ก.ย.) ประมาณการเศรษฐกิจและ Dot Plot ของเฟด เม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติตัวเลขการส่งออกและสถานการณ์โควิดของไทย

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนก.ย. การเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่เดือนส.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางอังกฤษ การกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน และข้อมูล PMI (เบื้องต้น)เดือนก.ย. ของสหรัฐฯ ยูโรโซน และอังกฤษด้วยเช่นกัน

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยปรับตัวลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,625.65 จุด ลดลง 0.59% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 85,757.98 ล้านบาท ลดลง 5.41% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.00% มาปิดที่ 554.20 จุด

หุ้นไทยร่วงลงช่วงต้นสัปดาห์ตามตลาดหุ้นในภูมิภาคที่ถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับมาตรการกำกับดูแลภาคธุรกิจของทางการจีน นอกจากนี้ยังมีแรงขายในหุ้นที่มีฟรีโฟลทต่ำ (โดยเฉพาะหุ้นของบริษัทในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์) หลังมีรายงานข่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมที่จะพิจารณาปรับเกณฑ์ในการหาหุ้นเข้า SET50 และ SET100

อย่างไรก็ดีดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นช่วงกลางสัปดาห์ตามแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติและสถาบันในประเทศ ก่อนจะร่วงลงอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ตามแรงขายหุ้นขนาดใหญ่ ขณะที่การปรับน้ำหนัก FTSE Rebalance เริ่มมีผลในวันที่ 17 ก.ย.

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (20-24 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,600 และ 1,580 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,635 และ 1,645 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (21-22 ก.ย.) สถานการณ์โควิด ประเด็นการเมืองไทย ตัวเลขส่งออกเดือนส.ค. ของไทย ทิศทางเงินลงทุนจากต่างประเทศ ตลอดจนประเด็นการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ของจีน

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านใหม่และบ้านมือสองเดือนส.ค. รวมถึงดัชนี PMI เดือนก.ย. (เบื้องต้น) ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOJ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนก.ย. ของจีน ตลอนจนดัชนี PMI เดือนก.ย. (เบื้องต้น) ของยูโรโซนและญี่ปุ่น