ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า จับตาสัญญาณการลด QE

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า จับตาสัญญาณการลด QE ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขณะที่เงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 33.33/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 20 กันยายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/9) ที่ระดับ 33.32/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/9) ที่ระดับ 32.24/26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐยังคงปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่องหลังจากตัวเลบขค้าปลีกในสัปดาห์ที่ผ่านมาออกมาดีเกินคาดและช่วยหนุนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐในช่วงท้ายสัปดาห์ ทั้งนี้ตลาดกำลังจับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในระหว่างวันที่ 21-22 กันยายน นี้ โดยคาดว่าน่าจะมีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินในโรงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมณ (QE) ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก

ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่างทางเฟดจะยังคงไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ยังคงเฝ้าติดตามภาะตลาดแรงงานและตัวเลขเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามหากประมาณการ Dot Plot บ่งชี้ว่าเฟดมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2565 ซึ่งเร็วกว่าประมาณการที่เฟดเคยเปิดเผยไว้นั้น ค่าเงินดอลลาร์ก็มีโอกาสปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อ

นอกจากนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในเชิงอ่อนค่าตามภูมิภาคจากการเทขายสินทรัพย์เสี่ยง เนื่องจากความกังวลกับการที่ประเทศสหรัฐอาจมีการปรับขึ้นอัตราภาษีนิติบุคคลและความไม่แน่นอนในเรื่องนโยบายของภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ตลาดจะให้ความสนใจกับตัวเลขการค้าเดือนสิงหาคม ซึ่งคาดว่ามูลค่าการส่งออกและนำเข้าอาจเติบโตในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบเป็นรายปี นอกจากนี้คาดว่านายกรัฐมนตรีจะพิจารณาข้อเสนอขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ต่อจีดีพี เป็นไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี เป็นการชั่วคราวเพื่อกลบหลุมรายได้จากวิกฤตโควิด-19

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.33-33.39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.33/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (20/9) ที่ระดับ 1.1714/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/9) ที่ระดับ 1.1724/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

โดยค่าเงินยูโรยังคงถูกกดดันหลังจากนางคริสติน ลาการ์ด ยืนยันการส่งสัญญาณปรับลดวงเงินในโครงการ PEPP แต่ยังไม่ได้หมายความว่า ECB กำลังถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ดำเนินมานับตั้แต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1698-1.1731 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1712/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/9) ที่ระดับ 109.83/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/9) ที่ระดับ 109.97/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดกำลังจับตาดูการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้ โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.51-110.03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.53/55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (POMC) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย, ดุลบัญชีเดินสะพัดไตรมาส 2/64, ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือน ก.ย.จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB), ยอดขายบ้านมือสองเดือน ส.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน ก.ย.ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือน ก.ย.จากมาร์กิต และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.25/+0.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +1.85/+2.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ