เงินบาทอ่อนค่า ตลาดกังวลเฟดทยอยถอน QE และผลกระทบเอเวอร์แกรนด์

เงินบาท

ค่าเงินบาทอ่อนค่า ตลาดกังวลเฟดทยอยถอน QE และผลกระทบจากไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ขณะที่ปัจจัยในประเทศ นอกจากมติศบค.ที่มีการขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉิน คลายล็อกกิจการเพิ่ม นักลงทุนยังจับตาการประชุม กนง.ในวันที่ 29 ก.ย.นี้ ก่อนที่เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 33.51/53 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 27 กันยายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/9) ที่ระดับ 33.40/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเม่อวันศุกร์ (24/9) ที่ระดับ 33.34/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหวในเชิงแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังจากผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่งสัญญาณปรับลดวงเงิน QE และมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปี 2565 โดยดัชนีค่าเงินดอลลารปรับตัวขึ้นมาใกล้จุดสูงสุดเดิมที่ระดับ 93.40 และมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อเนื่องหากใกล้ถึงวันที่เฟดจะทยอยลดขนาด Balance Sheet ลง

นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐปรับตัวขึ้น 9% จากระดับ 1.3 สู่ระดับ 1.43 บ่งบอกถึงสัญญาณการแข็งค่าของดอลลาร์ที่ชัดเจนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงการคลังสหรัฐยังไม่สามารถออกตราสารหนี้กู้ตัวใหม่ได้ เพราะติดปัญหา Debt Ceiling อยู่ ซึ่งยังคงกดดัน Real Yield ในระยะสั้น นอกจากนี้ นักลงทุนหันมาถือครองเงินดอลลาร์มากขึ้นในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย จากความไม่แน่นอนของผลกระทบจากบริษัท ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ทั้งเรื่องความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและเครดิตของโลก

สำหรับปัจจัยภายในประเทศวันนี้ ต้องติดตามการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่จะมีการพิจารณาข้อเสนอขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีก 2 เดือน และกำหนดระยะเวลาการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งอาจมีการเลื่อนระยะเวลาออกไปจากเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้

และอีกปัจจัยคือการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน กนง. ในวันพุธที่ 29 กันยายน โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.33-33.52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.51/53 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (27/9) ที่ระดับ 1.1718/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (24/9) ที่ระดับ 1.1733/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรยังคงถูกกดดันจาก Policy Windening Gap ระหว่างเฟดกับอีอีซี

นอกจากนี้นักลงทุนกำลังติดตามผลการเลือกตั้งเยอรมนี สำหรับความชัดเจนในเรื่องของจุดยืนทางการเมืองและทิศทางนโยบาย

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์ประเมินตัวเลขจีดีพีเยอรมนีปีนี้เติบโตประมาณ 3.1% และ 4.5% ในปีหน้า โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1690-1.1728 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1698/01 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/9) ที่ระดับ 110.69/71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (24/9) ที่ระดับ 110.41/43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยคณะกรรมการ BOJ มีมติคงนโยบายการเงินตามคาดในสัปดาห์ที่ผ่านมาและมีมุมมองในเชิงลบต่อการส่งออกและผลผลิตอุตสาหกรรม เนื่องจากการสั่งปิดโรงงานในภูมิภาคเอเชียส่งผลกระทบด้านซัพพลายเชนต่อผู้ผลิตบางราย

โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.51-110.03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.53/55

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2564, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI), ภาคการผลิตเดือน ส.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือน ก.ย. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน เป็นต้น

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.25/+0.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +1.85/+2.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ