ฝ่าความผันผวน หาโอกาสลงทุนโค้งสุดท้าย 64

คอลัมน์ ลงทุนทั่วโลก
ถิรัจฉรีย์ นวกิจไพฑูรย์
บลจ.วรรณ

เข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้ายในปี 2564 เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว แม้หลายประเทศมีแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอลงและเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ (normalisation) แต่หุ้นโลกยังมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นได้ต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนมากขึ้น สถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 ดีขึ้นจากความก้าวหน้าวัคซีนรุ่นใหม่ ๆ และการเร่งฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง

ประกอบกับมาตรการการเงินการคลังยังผ่อนคลายต่อเนื่อง แม้ว่าในระยะข้างหน้าแนวโน้มนโยบายการเงินของสหรัฐจะลดการผ่อนคลาย แต่ภาวะดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นยังน่าสนใจมากที่สุด เมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่น

มองไปข้างหน้า เรามองว่าตลาดหุ้นยังเป็นขาขึ้นรอบใหญ่ แต่จะมีความผันผวนมากขึ้น จาก 4 ประเด็นหลัก ซึ่งอาจกดดันตลาดหุ้นให้ปรับตัวลงในระยะสั้น โดยเรายังคงแนะนำการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย และใช้โอกาสจากความผันผวนเพื่อเข้าลงทุนโดยให้น้ำหนักไปที่การลงทุนในบริษัทที่มีพื้นฐานการเติบโตที่แข็งแกร่งและสามารถเติบโตไปกับโลกอนาคตซึ่งคาดว่าจะเป็นกลุ่มที่จะสามารถฟื้นตัวได้โดดเด่นท่ามกลางความผันผวนที่รออยู่ในระยะข้างหน้า ดังนี้

ประเด็นแรก การจัดการไวรัสกลายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการฉีด ประสิทธิภาพวัคซีน และการจัดหาวัคซีน ยังเป็นตัวแปรสำคัญในการรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์ และทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หรือความต่อเนื่องในการเปิดเมืองของแต่ละประเทศแตกต่างกันออกไป

ประเด็นถัดมา การปรับนโยบายการเงินของธนาคารสหรัฐ (Dovish fading) ซึ่งเป็นประเด็นที่ตลาดค่อนข้างจับตา จากการแถลงของประธาน Fed ในงานประชุม Jackson Hole ปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่าจะเริ่มทยอยลดการซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (QE tapering) ภายในสิ้นปีนี้ และเน้นย้ำว่าจะไม่รีบร้อนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากการจ้างงานยังไม่ถึงระดับเต็มศักยภาพ

การสิ้นสุดการทำ QE ไม่ได้บ่งบอกว่า Fed จะต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยในระยะถัดไป ปัจจุบันอัตราการจ้างงานโดยรวมสหรัฐยังต่ำกว่าช่วงก่อน COVID-19 ราว 5.7 ล้านตำแหน่ง ต้องติดตามความคืบหน้าตัวเลขเศรษฐกิจใกล้ชิด หากการเปิดเมืองเป็นไปต่อเนื่องเป็นไปได้ที่ตลาดแรงงานจะฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เราคาดว่า Fed จะลด QE อย่างค่อยเป็นค่อยไป ในวงเงินลดประมาณ 10,000-15,000 ล้านดอลลาร์ต่อรอบการประชุม ซึ่งจะทำให้การทำ QE สิ้นสุดลงในช่วงไตรมาส 3 ในปี 2022

การปรับนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า อาจส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (bond yield) 10 ปี มีทิศทางเป็นขาขึ้น (ราคาลดลง) ขณะที่ตลาดการเงินเริ่มมองว่า อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มไม่มาก เป็นผลให้อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง (real yield) กลับมาเพิ่มขึ้น แต่ไม่เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งระยะสั้นจะกดดันทองคำและหุ้นปรับตัวลง แต่ด้วยปริมาณเงินที่ยังคงมากในระบบ คาดว่าการทำ QE tapering และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะตามมา จะไม่กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม อาจเกิดแรงเทขายหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ โดยกระแสเงินทุนมีแนวโน้มที่จะไหลกลับไปที่สหรัฐ และทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นโดยเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง อย่างกลุ่ม LATAM ขณะที่หุ้นจีนและเวียดนามมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับนโยบายการเงินสหรัฐน้อยกว่า จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกับสหรัฐในปัจจุบัน และมีการอุปโภคบริโภคในประเทศที่แข็งแกร่ง

ประเด็นที่สาม ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (normalised earnings
growth) เราคาดว่าอัตราการเติบโตของ EPS บริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3 ของกลุ่มตลาดหุ้นหลัก ๆ อย่างสหรัฐ ยุโรป และจีน ในภาพรวมจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับ 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่ราคาหุ้นทั่วไปเริ่มสูง โดยคาดว่าจากนี้ไป นักลงทุนจะหันไปให้น้ำหนักต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนมากขึ้น โดยมองว่าหุ้นเติบโตสูง (growth stocks) จะกลับมามีความน่าสนใจ จากแนวโน้มการเติบโตของรายได้และศักยภาพการแข่งขันที่อยู่ในระดับสูง

ปัจจัยสุดท้าย การคุมเข้มธุรกิจของรัฐบาลจีน (tighten China regulations) เพื่อสร้างความเป็นธรรมยกระดับมาตรฐานในอุตสาหกรรม และลดช่องว่างทางสังคม ส่งผลต่อการดำเนินงานในหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ โรงเรียนกวดวิชา ล่าสุดกลุ่มอสังหาริมทรัพย์อย่าง China Evergrande Group ผู้พัฒนาอสังหาฯรายใหญ่ของจีนที่กำลังประสบปัญหาสภาพคล่องรุนแรง หลังทางการจีนประกาศจำกัดอัตราส่วนหนี้สินของธุรกิจอสังหาฯในประเทศ

เรามองว่าในระยะสั้น จะกดดันตลาดทุนจีน และ sentiment การลงทุนในตลาดหุ้นเอเชีย แต่จะไม่ลุกลามจนก่อให้เกิดวิกฤตค่าเงินหยวน หรือนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจโลก เนื่องจาก Evergrande มีเจ้าหนี้หลักเป็นสถาบันการเงินในประเทศจีนที่มีสถานะทางเงินที่แข็งแกร่ง และมีหุ้นกู้สกุลดอลลาร์คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 4% ของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์จีนที่ให้ผลตอบแทนสูง ตามข้อมูลของ DBS

ทั้งนี้ แรงเทขายหุ้นจีนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ valuation ของ MSCICHINA ปรับตัวลงมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาค ซึ่งถือว่าเป็นระดับน่าสนใจมากสำหรับนักลงทุนระยะยาว เพราะที่สุดแล้วในอนาคต บริษัทที่รอดจะมีเพียงบริษัทที่ปรับตัวได้และสามารถเติบอย่างยั่งยืนยิ่ง