ไทยพาณิชย์ แนะกลยุทธ์ลงทุนทั่วโลก ชี้กระแส “ฟินเทค-ไซเบอร์-EV“ มาแรง

ตลาดหุ้นไทย-SET

SCB CIO  แนะกลยุทธ์ลงทุนสินทรัพย์ทั่วโลก  ชี้ตลาดจับตาหุ้นกลุ่มธุรกิจ Transformation  “ฟินเทค – ไซเบอร์ – EV” เนื่องจากมีปัจจัยผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมในระยะยาวและยังเป็นการลงทุนในธีม ESG

 

มองตลาด DMs ฟื้นตัวดีสุดหลังโควิด 

วันที่ 7 ตุลาคม 2564 ดร. กำพล  อดิเรกสมบัติ  ผู้อำนวยการอาวุโส, Chief Investment Office   ธนาคารไทยพาณิชย์   กล่าวว่า จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจที่แตกต่างกันกำลังจะนำไปสู่การทำนโยบายเศรษฐกิจทั้งทางด้านการเงินและการคลังที่แตกต่างกัน การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเริ่มมีความแตกต่างมากยิ่งขึ้น โดยประเทศในกลุ่มประเทศตลาดพัฒนาแล้ว  (Developed Markets : DMs) เช่น สหรัฐฯ และ อังกฤษ ที่เริ่มส่งสัญญาณถอนคันเร่งนโยบายการเงิน โดยการชะลอเข้าซื้อพันธบัตรและขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามความพร้อมของเศรษฐกิจ    ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets : EMs) ผ่านต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นและความผันผวนของกระแสเงินทุน  อย่างไรก็ตามสำหรับนโยบายการคลังและการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมามีต้นทุนสูงสะท้อนจากหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นค่อนข้างเร็วในหลายประเทศ และอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น   แม้ว่าอาจจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวแต่มองว่าคงจะใช้เวลาพอสมควรในการชะลอตัวลง

 

แนะสะสมหุ้นสหรัฐ – ยุโรป เน้นกลุ่ม Quality growth

ดร. กำพล  กล่าวต่อว่า สำหรับการพอร์ตการลงทุน  SCB CIO  ประเมินว่า กลุ่มตลาดเกิดใหม่  ( Developed markets)  มีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ดี ทำให้มีการฟื้นตัวของกำไรและความสามารถในการทำกำไรในระยะข้างหน้าของบริษัทจดทะเบียนได้ดีกว่า   ทั้งนี้ในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนมองว่านับเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าสะสมหุ้นกลุ่มสหรัฐ และยุโรป  โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม  Quality  growth  ที่มีผลประกอบการเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง   นอกจากนี้ยังมีหุ้นญี่ปุ่นที่น่าสนใจไม่น้อย จากแนวโน้มการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ และราคาหุ้นเมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ถือว่าไม่แพง ส่วนการลงทุนในหุ้นจีน  ยังคงมุมมองตลาดหุ้น A-Share ที่เป็นกลาง (Neutral)  จากนโยบายมุ่งเน้นเติบโตจากภายในประเทศของจีน    และคงมุมมองตลาดหุ้นจีน  H- Share  ที่เชิงลบเล็กน้อย (slightly  negative)  เนื่องจากมีความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์ของรัฐที่ค่อนข้างมีแนวโน้มยืดเยื้อ

ดร. กำพล อดิเรกสมบัติ

 เวียดนามน่าลงทุนสุดในอาเซียน

ขณะที่ในโซนอาเซียนตลาดหุ้นเวียดนามเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจอย่างต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจจะชะลอลงในช่วงไตรมาส 3 แต่ตลาดได้รับรู้ไปบ้างแล้ว   จึงมองว่าในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจน่าจะมีการฟื้นตัวได้ในส่วนของภาคการส่งออกตามเศรษฐกิจโลก  และความคืบหน้าในการนำเข้าและฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้การเปิดเมืองและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเวียดนามทยอยฟื้นตัวได้ดี

 

มองตลาดหุ้นไทยยังติดลบ

ส่วนตลาดหุ้นไทยมองเป็นเชิงลบเล็กน้อย (slightly  negative)   จากแนวโน้มการฟื้นตัวของกำไรที่เสี่ยงถูกปรับลดลง และความตึงตัวของมูลค่าเมื่อเทียบกับตลาดอาเซียนอื่นๆ   ด้านราคาน้ำมันปรับมุมมองเป็นกลาง (Neutral)  จากการฟื้นตัวของอุปสงค์น้ำมัน  ซึ่งได้อานิสงค์จากการเปิดเมืองและแนวโน้มการเดินทางระหว่างประเทศของประเทศพัฒนาแล้วดีขึ้น  รวมถึงการหันมาใช้น้ำมันที่มากขึ้นทดแทนก๊าซธรรมชาติที่กำลังมีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  และมีมุมมองเชิงลบเล็กน้อย (slightly  negative)   สำหรับทองคำที่จะได้รับผลกระทบจาก QE tapering และอัตราผลตอบแทนของพันธบัตร (real yields ) ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่กลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยไตรมาสที่ 4 มองว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงจากการที่ผลดำเนินการและตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 ที่อาจต่ำกว่าคาดรวมถึงวัคซีนไม่เป็นไปตามแผน อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกยังมองว่าจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของท่องเที่ยวจะช่วยหนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว

 

ชี้ 3 เทรน “ ฟินเทค  – ไซเบอร์ – EV ”  มาแรง

ด้านนายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office (CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  มุมมองการลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างรวดเร็ว  (Transformation)  ว่า มี 3 กลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจ ได้แก่

 

เทคโนโลยีการเงิน (Fintech)

จากกระแสเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology) ที่กำลังได้รับความนิยมและเกิดขึ้นในทุกองค์กรทั่วโลก และกระแส Digital Transformation ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ถูกเร่งกระบวนการขึ้นหลังเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และเทรนด์การลงทุนในกลุ่ม Fintech ก็กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในทั่วโลก ทำให้กระแสการลงทุนในบริษัทเกี่ยวกับ Fintech ใน Centralized และ Decentralized Finance เติบโตอย่างรวดเร็ว

และจากกระแส Fintech ที่ครอบคลุมและต่อยอดออกไปในหลายอุตสาหกรรม และการมาถึงของ Decentralized Finance การขยายตัวของบริษัทแพลตฟอร์มระดับโลกเข้าสู่ธุรกิจการเงิน พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังโควิด รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วจะทำให้รูปแบบธุรกิจการเงินเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากในอดีต ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสการลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ Fintech และ Blockchain ได้อย่างมาก

นายศรชัย สุเนต์ตา

ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity)

จากการเชื่อมโยงระหว่างกันและการที่มีปริมาณข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ทำให้ความปลอดภัยด้านไซเบอร์เป็นความเสี่ยงทางธุรกิจที่สำคัญมากขึ้นและหลายบริษัทกำลังให้ความสนใจกับประเด็นนี้เพิ่มมากขึ้น  หลังจากที่การใช้งานอินเตอร์เน็ตและระบบออนไลน์เป็นไปอย่างแพร่หลายในทุกองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทที่มีสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่สำคัญ เช่น แบรนด์ ความสัมพันธ์กับลูกค้า นวัตกรรม และข้อมูลความลับทางการค้า  ซึ่งผลกระทบด้านลบจากการถูกละเมิดและการโจมตีทางไซเบอร์จะส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของบริษัทโดยตรง

ทั้งนี้ จากการเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของบริษัทและองค์กรทั่วโลก เป็นอีกหนึ่งในโอกาสการลงทุนในบริษัทที่กำลังเติบโตและเป็นผู้นำด้านการรักษาความปลอดภัยทางเทคโนโลยีไซเบอร์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสหรือมัลแวร์ (Anti-Virus/Anti-Malware) การยืนยันตัวตน (Authentication) และการเข้ารหัสข้อมูล (Encryption) ที่จะช่วยป้องกันการถูกละเมิดข้อมูล

 

พลังงานหมุนเวียนและรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

จากกระแสการลดภาวะโลกร้อนสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนเครื่องยนต์สันดาปเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และนโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ทั่วโลก รวมถึงแนวทางการพัฒนาพลังงานทางเลือกและพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืนแทนการใช้พลังงานจากน้ำมันและถ่านหิน ก่อให้เกิดการเติบโตในหลายอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งในส่วนของการผลิตแบตเตอรี่ เซมิคอนดักเตอร์ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการผลิตและการกักเก็บพลังงงานหมุนเวียนไม่ว่าจะเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ฯลฯ ซึ่งสร้างโอกาสการลงทุนอย่างมากในมุมของห่วงโซ่การผลิตในธุรกิจ EV & Energy Storage โดยเฉพาะในบริษัทที่มีนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านพลังงาน

 

กระแสลงทุน ESG ยังคงฮอต

ทั้งนี้การลงทุนในระยะยาวสำหรับหุ้นใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม Transformation  ยังเป็นการลงทุนหุ้นในธีม ESG ที่ให้ความสำคัญและคำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เป็นอีกธีมการลงทุนยอดนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งแกนในการพิจารณาคัดเลือกบริษัทที่เข้าลงทุนควบคู่ไปกับ 3 เทรนด์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตข้างต้นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะในตลาดหุ้น ผู้ลงทุนต้องเผชิญกับความผันผวนของตลาดหุ้นค่อนข้างมาก แต่ตามสถิติ หุ้นในกลุ่ม ESG ค่อนข้างจะเผชิญความผันผวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นทั่วไปในตลาด และมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าหลังจากผ่านพ้นช่วงตลาดปรับฐาน

นอกจากนี้การลงทุนในบริษัทที่คำนึงถึงมาตรฐาน ESG เปรียบเสมือนการลงทุนในบริษัทที่ต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่เพื่อรักษามาตรฐานอยู่ตลอด สะท้อนการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและนักลงทุน และมีความเสี่ยงโดยรวมต่อประเด็นการผิดจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจค่อนข้างน้อย  ดังนั้นการลงทุนที่ยั่งยืนโดยคำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG จึงมีแนวโน้มสามารถให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเกณฑ์อ้างอิงที่ใช้เปรียบเทียบผลตอบแทนของตลาดโดยรวมได้ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เม็ดเงินการลงทุนหุ้นในธีม ESG มีอัตราการเติบโตสูงต่อเนื่องทั้งในปัจจุบันและอนาคต