ดอลลาร์อ่อนค่า หลังบอนด์ยีลด์ร่วง-นักลงทุนขายสกุลเงินปลอดภัย

เงินบาท-ดอลลาร์

ดอลลาร์อ่อนค่า หลังบอนด์ยีลด์ร่วง-นักลงทุนขายสกุลเงินปลอดภัย ขณะที่เงินบาทปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 11-15 ตุลาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (11/10) ที่ระดับ 33.77/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร (8/10) ที่ระดับ 3387/89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 194,000 ตำแหน่งในเดือนกันยายน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 500,000 ตำแหน่ง หลังจากแตะระดับ 366,000 ตำแหน่งในเดือนสิงหาคม

ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 4.8% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.1% จากระดับ 5.2% ในเดือนสิงหาคม ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.6% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.4% ซึ่งนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อไว้

ค่าเงินดอลลาร์ยังถูกกดดันในฐานะเงินสกุลปลอดภัยหลังนักลงทุนเริ่มหันกลับไปซื้อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นหลังคลายกังวลที่ประเด็นการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐถูกคลี่คลายไปอย่างน้อยจนเดือนธันวาคมหลังล่าสุดวุฒิสภาสหรัฐมีมติด้วยคะแนนเสียง 50 ต่อ 48 ผ่านร่างกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐเป็นการชั่วคราว โดยเพิ่มเพดานหนี้อีก 4.80 แสนล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 28.9 ล้านล้านดอลลาร์ ไปจนถึงวันที่ 3 ธันวาคม

ช่วงกลางสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะประกาศลดวงเงินในโครงการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในเดือนหน้า นอกจากนี้ ความวิตกกับการพุ่งขึ้นของราคาพลังงานยังเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย

โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมมีการรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญต่าง ๆ กล่าวคือ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือน ก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% ส่วนเมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 5.4% ในเดือน ก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.3%

สำหรับรายงานการประชุมประจำเดือน ก.ย.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งนักลงทุนจับตาอย่างใกล้ชิดนั้น ระบุว่ากรรมการเฟดส่วนใหญ่เห็นพ้องที่จะเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในช่วงกลางเดือน พ.ย. หรือกลางเดือน ธ.ค.ปีนี้

อีกทั้งกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 293,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว โดยต่ำกว่าระดับ 300,000 รายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 318,000 ราย และต่ำกว่าระดับ 329,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้านี้

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทยังคงปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ในช่วงคืนวันจันทร์ (11/10) นายกรัฐมนตรีออกแถลงการณ์ประกาศความชัดเจนในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัวตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้ เริ่มจากประเทศความเสี่ยงต่ำและต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดส

หลังจากนั้นในวันที่ 1 ธ.ค. จะมีการปลดล็อกเปิดสถานบันเทิง และสามารถนั่งดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้เพื่อรับเทศกาลเฉลิมฉลองสิ้นปี ก่อนเดินหน้าเปิดประเทศเต็มที่ในวันที่ 1 ม.ค. 65 ด้วยถ้อยแถลงดังกล่าว ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสะคัญ ทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกับการปรับขึ้นของตลาดหุ้น

ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันนี้ น่าจะมาจากทิศทางของ flow เป็นหลัก และล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไตรมาส 3 โดยระบุว่า กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 และปี 2565 จะขยายตัวใกล้เคียงกับที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อน แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 0.7% ส่วนในปี 2565 ขยายตัวได้ 3.9%

โดยแม้ในไตรมาส 3/64 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาด และการส่งออกที่ชะลอลงกว่าคาด แต่พัฒนาการด้านวัคซีนที่ดีขึ้นชัดเจน และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่น และการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปี 2564

สำหรับปี 2565 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวจากการใช้จ่ายในประเทศเป็นสำคัญ ตามความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทยอยฟื้นตัวตัวอย่างช้า ๆ และการส่งออกจะยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหา global supply disruption และต้นทุนค่าขนส่งสินค้าทางเรือ ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกสินค้า

ทั้งนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.15-33.90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (15/10) ที่ระดับ 33.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์นี้ (11/10) ที่ระดับ 1.1575/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/10) ที่ระดับ 1.1530 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากนักลงทุนมองว่าธนาคารกลางยุโรปยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับลดการซื้อพันธบัตร หรือการปรับขึ้นดอกเบี้ยแต่อย่างใด ซึ่งตรงข้ามกับธนาคารกลางสหรัฐที่จะเริ่มมีการปรับนโยบายการเงินในเร็ววันนี้

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจของทางฝั่งยูโรโซนนั้น ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีร่วงลงสู่ระดับ 22.3 ในเดือน ธ.ค. จาก 26.5 ในเดือน ก.ย. โดยปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะปรับตัวลงแตะที่ 24.0

ซึ่ง นายอาคิม แวมบาค ประธานสถาบัน ZEW กล่าวว่า ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและสินค้าและสินค้าขั้นกลาง โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1531-1.1625 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (15/10) ที่ระดับ 1.1606/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (11/10) ที่ระดับ 112.40/42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/10) ที่ระดับ 111.87/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ตัวเลขการจ้างงานสหรัฐจะปรับตัวลดลงแต่ค่าเงินเยนยังคงได้รับแรงกดดันจากส่วนต่างผลตอบแทนพันธรัฐบาลที่ทยอยปรับตัวเพิ่มมากขึ้น จากการคาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

นอกจากนี้มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็เป็นปัจจัยกดดันค่าเงินเยนเช่นกัน เนื่องจากมีการยืนยันว่าจะยังผ่อนคลายและกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว

ทั้งนี้นายฟูมิโอะ คิชิตะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้เปิดเผยว่าเขาจะยังไม่มีแผนปรับภาษีรายได้ทางการเงินของประเทศในขณะนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นปรับลดแนวโน้มการส่งออกในรายงานเศรษฐกิจประจำเดือน ต.ค. เนื่องจากการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซบเซาลง อันเป็นผลมาจากภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

นับเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนที่รัฐบาลญี่ปุ่นปรับลดแนวโน้มการส่งออกของประเทศ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 112.19-114.37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (15/10) ที่ระดับ 114.34/37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ