จับโอกาสธุรกิจ เมื่อผู้บริโภคเต็มใจจ่ายเพื่อรักษ์โลก

คอลัมน์ สมาร์ทเอสเอ็มอี
ชัยยศ ตันพิสุทธิ์
ธนาคารกสิกรไทย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ประกาศเตือน “รหัสแดงสำหรับมนุษยชาติ” แปลว่าสิ่งแวดล้อมโลกใกล้ถึงจุดที่ไม่อาจย้อนกลับ โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมก็คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งส่งผลอุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกเกิดการละลายในอัตราเร่งกว่าที่คาด

รวมถึงความถี่และความรุนแรงของภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม พายุ หรือคลื่นความร้อน ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

จะเห็นว่าเทรนด์นี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจมุมมองและพฤติกรรมของผู้บริโภคต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า

– ผู้บริโภคมากกว่า 50% มีความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว และมองว่าตนเองได้รับผลกระทบในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น อาทิ ปัญหาขยะ มลพิษทางน้ำ และปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่มีความรุนแรงขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น

– กลุ่มคนรุ่นใหม่และวัยทำงาน อายุ 20-35 ปี สนใจเลือกซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีการเลือกซื้อสินค้าจากผู้ผลิต/ผู้ขายที่แสดงถึงมาตรฐานในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมตลอดกระบวนการ ตั้งแต่แหล่งที่มาของวัตถุดิบ กระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์ การขนส่ง และการจัดการขยะหลังการบริโภค

– ผู้บริโภค 55% เต็มใจจ่ายเพิ่มขึ้นถึง 20% จากราคาสินค้าปกติ และผู้บริโภค 20% เต็มใจจ่ายเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 40% จากราคาสินค้าปกติ

โดยผู้บริโภคที่เต็มใจจ่ายเพิ่มขึ้นมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 45,000 บาท ระดับการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไป มีความเข้าใจปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล

– ผู้บริโภค 88% เห็นว่ามาตรการจูงใจและส่งเสริมการขาย มีผลต่อการตัดสินใจซื้อมากที่สุด เช่น สามารถนำค่าใช้จ่ายสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปใช้ลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้

ในขณะที่การตรวจสอบย้อนกลับว่าผลิตภัณฑ์ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้จริง และความน่าเชื่อถือของผู้ผลิตที่มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ก็มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ 83% และ 64% ตามลำดับ

– กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น อาหารเครื่องดื่ม และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นสินค้ากลุ่มแรก ๆ ที่ผู้บริโภคจะเลือกซื้อ หากสินค้านั้นแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับราคาที่ไม่แตกต่างกับสินค้าปกติมากนัก

เพราะเป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถเข้าถึงได้ง่ายและเห็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในรูปแบบ refill ก้านสำลี/ผ้าอนามัยจากเส้นใยธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ อาหารเครื่องดื่มจากโปรตีนทางเลือก สินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน เป็นต้น

ซึ่งผมคิดว่าแม้ในช่วงแรกธุรกิจจะมีต้นทุนการปรับตัวให้ได้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม แต่ธุรกิจที่สามารถปรับตัวได้ก่อน สามารถใช้จุดขายเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการดึงดูดผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และสร้างความได้เปรียบในภาวะที่ตลาดมีการแข่งขันสูง

โดยผมมองว่าในระยะยาวทุกธุรกิจจะต้องปรับเปลี่ยนไปสู่สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจนกลายเป็นสินค้า new normal ทดแทนสินค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า

รวมถึงมีโอกาสในการขยายตลาดเพื่อการส่งออก เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้ตอบโจทย์เศรษฐกิจหลักของโลกที่มุ่งสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม