“อาคม” ชี้ 6 แนวทางปรับตัวธุรกิจประกันภัย รับ New Normal

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

รมว.คลัง แนะบริษัทประกันภัยปรับธุรกิจ รับ new normal ผ่าน 6 แนวทาง “ออกผลิตภัณฑ์สอดรับนโยบายรัฐผลักดันรถอีวี-เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม-ประกันภัยครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ-บริหารความเสี่ยง เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด”

วันที่ 26 ตุลาคม 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงาน Thailand InsurTech Fair 2021 ว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบในหลายมิติต่อสภาพความเป็นอยู่ของสังคม และประชาชนทุกภาคส่วน โดยภาคประกันภัยได้แสดงความสามารถเป็นที่ประจักษ์ถึงบทบาทการบริหารความเสี่ยงให้กับประกันภัย ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองอย่างเป็นธรรมและเหมาะสมต่อสถานการณ์

“ช่วงโควิดธุรกิจประกัน ได้ออกผลิตภัณฑ์เพียงพอต่อประชาชนและชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย รวมถึงได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเยียวยา และบรรเทาผลกระทบให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทำให้คนไทยตระหนักถึงการทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพมากขึ้น ทั้งในระดับครัวเรือนและผู้ประกอบการ”

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมประกันภัยถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงินของประเทศ มีบทบาทสำคัญในการระดมเงินทุนจากผู้ที่มีเงินออม แต่การระดมเงินทุนจากผู้ที่มีเงินออมนั้นก็เพื่อสร้างหลักประกันชีวิตในระยะยาว ซึ่งความสามารถในเรื่องการพยากรณ์หากมองในแง่ของช่วงชีวิตของชีวิตคนก็สามารถประมาณการได้อย่างแม่นยำ แต่สิ่งที่เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากที่โดนผลกระทบจากน้ำท่วม และภัยแล้งต่าง ๆ แม้จะมีเทคโนโลยีพยากรณ์ แต่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แม้จะมีระบบป้องกันภัยธรรมชาติเป็นอย่างดี

ฉะนั้น เพื่อเป็นกลไกสำคัญระบบการเงิน ธุรกิจประกันจะต้องมองไปข้างหน้า โดยในชีวิตวิถีใหม่ หรือ new normal ธุรกิจประกันต้องปรับตัวด้วยเช่นเดียวกัน ใน 6 ประเด็นหลัก ดังนี้

1.เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งรัฐบาลได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ การทำธุรกรรมกับภาครัฐ การจ่ายค่าธรรมเนียม ใบอนุญาต และการเสียภาษี สามารถทำผ่านมือถือได้ หวังว่าธุรกิจประกันภัยจะนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เพื่อลดภาระการเดินทาง กระดาษต่าง ๆ เป็นต้น

2.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งธุรกิจประกันภัยขยายบทบาทการประกันพืชผลทางการเกษตร ส่วนนี้จะต้องดูความแม่นยำสภาวะภูมิอากาศ อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศไม่เฉพาะภัยธรรมชาติ ยังเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วย ซึ่งการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมีการพูดถึงทั่วโลก ทั้งนโยบายการเงินการคลัง โดยภาคการคลังในอนาคตจะต้องมุ่งรักษาสภาพแวดล้อมให้มีความสะอาด ส่งเสริมการลงทุนเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม จะเปลี่ยนการใช้รถยนต์จากน้ำมันไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า ฉะนั้น ธุรกิจประกันภัยจะต้องมองว่านโยบายเปลี่ยนไปเช่นนี้ จะให้บริการตอบสนองผู้บริโภคอย่างไร

3.ผู้สูงอายุ ปี 2565 เป็นต้นไป สัดส่วนจะสูงถึง 20% ของประชากรทั่วประเทศ โดยเพื่อเป็นการสร้างหลักประกันให้กับประชาชน แหล่งที่จะออมได้คือการประกันสุขภาพ ซึ่งระหว่างทางมีผลตอบแทนให้ ธุรกิจประกันจะต้องออกแบบให้ตรงความต้องการประชาชน

4.ความจำเป็นของประเทศที่จะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งแสดงให้เห็นขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งสิ่งที่ขาดไปคือการครอบคลุมของธุรกิจประกันภัย ในด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ท่าเรือ สนามบิน รถไฟ ซึ่งธุรกิจประกันภัยควรจะมีผลิตภัณฑ์เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ครอบคลุมในประกันวินาศภัย และอื่น ๆ

5.เศรษฐกิจชีวภาพ นโยบายของรัฐมีความชัดเจนว่านโยบายสีเขียว หรือ BCG เป็นการพัฒนาในลักษณะองค์รวม ใช้ประโยชน์จากชีวภาพที่มีอยู่ และการดูแลสิ่งแวดล้อม รวมถึงในเรื่อง ESG ด้วย รัฐก็มีนโยบายเหล่านี้ชัดเจน ซึ่งเป็นนโยบายที่ประเทศต่าง ๆ นำไปใช้ ฉะนั้น ธุรกิจประกันภัยจะต้องมองในเรื่องเหล่านี้ด้วย

6.การพัฒนาอุตสาหกรรมต้องบริหารความเสี่ยง การบริหารความเสี่ยงขึ้นอยู่กับความแม่นยำ การคาดการณ์ในอนาคต ต้องทำการทดสอบในเรื่องความอ่อนไหว ซึ่งอุตสาหกรรมประกันภัยจะต้องมี เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้