“ซีไอเอ็มบี ไทย” ยิ้มกริ่มธุรกิจวาณิชธนกิจโตเกินเป้า คาดสิ้นปี 2560 มีมูลค่าดีลแตะ 2 แสนล้านบาท

stock market

ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ชี้ธุรกิจวาณิชธนกิจเติบโตเกินเป้าหมาย คาดการณ์ปี 2560 มีมูลค่าดีลลูกค้าวาณิชธนกิจรวม 2 แสนล้านบาท ถือว่าเติบโตกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ประมาณ 1-1.5 แสนล้านบาท

นายวิรัช มรกตกาล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ วาณิชธนกิจ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ธุรกิจวาณิชธนกิจของธนาคาร ประกอบด้วย รายการการเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนครั้งแรก (IPO) รายการที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนผ่านตลาดทุน (Equity Capital Market) รายการตัวแทนการเสนอขายหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) และรายการการควบรวมกิจการ (M&A) คาดว่าจะมีมูลค่าดีลรวม 2 แสนล้านบาทสิ้นปี 2560 นี้

ทั้งนี้ปี 2560 มีดีลสำคัญได้แก่ การนำเสนอขายหุ้น IPO ของ บมจ. ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ บมจ. บีกริม เพาเวอร์ และ บมจ. ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ การได้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการขายสินทรัพย์ของ ของ บลจ.กรุงไทย และการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับ บมจ. บีซีพีจี ในการซื้อโครงการไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศฟิลิปปินส์

“ปีนี้เป็นปีที่ซีไอเอ็มบี ไทย active และทำดีลเยอะมาก เข้าไปเป็น co-underwriter ของดีลต่างๆ และวันนี้ซีไอเอ็มบี ไทยได้พิสูจน์ตัวเองกับตลาดแล้วว่าเราทำได้ จากความพร้อมของทีมงาน การวางยุทธศาสตร์ชัดเจนในการทำดีล และสำคัญที่สุด คือ จุดยืนชัดเจนที่เน้นย้ำมาตลอด คือ การพาลูกค้าไปเติบโตในอาเซียน และพาลูกค้าต่างประเทศมาลงทุนในไทย โดยใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบของเครือข่ายอันแข็งแกร่งของกลุ่มซีไอเอ็มบีอย่างเต็มที่” นายวิรัช กล่าว

สำหรับแผนปีหน้า ธนาคารจะเดินหน้ายุทธศาสตร์ด้านอาเซียนต่อเนื่อง ดีลต่างๆ จะมีความหลากหลาย และครอบคลุมไปยังประเทศต่างๆ มากขึ้น โดยเมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มซีไอเอ็มบีได้รับอนุญาตจากธนาคารกลางของฟิลิปปินส์ให้เปิดทำการสาขาในสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ส่งผลให้วันนี้ซีไอเอ็มบีมีเครือข่ายครบทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน รวมถึงการมีเครือข่ายนอกอาเซียนในจีน ฮ่องกง อินเดีย ศรีลังกา เกาหลี สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักรอีกด้วย

นายวิรัช เปิดเผยว่า ดีลในอาเซียนปีนี้ประกอบด้วยดีลในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และดีลจากญี่ปุ่นที่เข้ามาซื้อสินทรัพย์ในไทย ขณะที่ดีลในอาเซียนที่อยู่ในแผนปีหน้าประกอบด้วย ดีลในเวียดนามจำนวน 2 ดีล และลาว 1 ดีล ส่วนในกัมพูชาเป็นดีลด้านสินเชื่อ และมีดีลที่รออยู่ในอินโดนีเซีย เมียนม่า มาเลเซีย สิงค์โปร์ และ ฮ่องกงอีกจำนวนมาก อีกทั้งกำลังเข้าไปศึกษาดีลในปากีสถาน และศรีลังกา อีกด้วย

ข้อมูลจากบลูมเบิร์ก ณ วันที่ 1 พ.ย. 2560 ธนาคารมีส่วนแบ่งตลาดรายการ M&A เป็นอันดับ 2 ด้วยมูลค่า M&A กว่า 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 31 % และมีส่วนแบ่งตลาดรายการ IPO เป็นอันดับ 4 ด้วยมูลค่า IPO ประมาณ 10,000 ล้านบาท คิดเป็น ส่วนแบ่งตลาด 10%