คลังปิดจ็อบพัฒนาที่หมอชิต เซ็น BKT ต้นปี’61/ลุ้นเคาะดีล “ร้อยชักสาม”

แฟ้มภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข่าว

คลังตั้งแท่นเซ็นพัฒนา “ที่หมอชิต” 2.3 หมื่นล้านต้นปี’61 หลังล่าสุดอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาเสร็จแล้ว รอชง ครม.เห็นชอบ ชี้ “บางกอกเทอร์มินอล” เดินหน้าลงทุนต่อ ขณะที่ “ร้อยชักสาม” ธนารักษ์เจรจา “เอ็นพาร์ค” จบแล้ว ชงคณะกรรมการกำกับสัญญาร่วมทุนต้น ธ.ค.นี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าการพัฒนาที่ราชพัสดุเชิงพาณิชย์ 2 แปลง คือ บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต (เก่า) ที่อัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเหลือเพียงขั้นตอนสุดท้ายของการพิจารณาร่างสัญญาตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 น่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการภายในต้นปี 2561 จากนั้นก็สามารถลงนามในสัญญากับทางบริษัท บางกอกเทอร์มินอล (BKT หรือ ซันเอสเตทเดิม) คู่สัญญาได้

ขณะที่อีกโครงการ คือ โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงโรงภาษีร้อยชักสาม ที่ทางกรมธนารักษ์ได้เจรจากับคู่สัญญา บมจ.แนเชอรัล พาร์ค (N-PARK) ได้ข้อสรุปแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการกำกับสัญญาร่วมทุน ตามมาตรา 43 ในช่วงต้นเดือน ธ.ค.นี้

อำนวย ปรีมนวงศ์

“ขณะนี้ร่างสัญญาโครงการพัฒนาที่หมอชิตได้ผ่านการตรวจร่างโดยอัยการสูงสุดแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างทางกรมธนารักษ์ทำเรื่องเสนอ รมว.คลังพิจารณา แล้วนำเสนอที่ประชุม ครม.ในเร็ว ๆ นี้ ส่วนโครงการร้อยชักสามเจรจากับเอกชนจบมา 3 เดือนแล้ว แต่เนื่องจากต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมาย PPP จึงยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควร” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนาที่หมอชิต เป็นคอมเพล็กซ์การค้าและโรงแรม มูลค่าลงทุนของโครงการจะเพิ่มจาก 18,000 ล้านบาท เป็นประมาณ 26,000 ล้านบาท เนื่องจากระยะเวลาล่วงเลยมานานทำให้มูลค่าทรัพย์สินเปลี่ยนแปลงไป และมีการปรับแบบก่อสร้างให้มีความทันสมัยมากขึ้น แต่จะยังคงดำเนินการภายใต้กรอบสัญญาเดิมที่มีระยะเวลาโครงการ 30 ปี แต่มีออปชั่นให้ขยายได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี ซึ่งในช่วง 30 ปีจะคิดผลตอบแทนตามเงื่อนไขที่มีการประกวดราคา แต่ช่วงเวลาที่ขยาย จะพิจารณาผลตอบแทนตามสถานการณ์ในขณะนั้น ว่าหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เป็นอย่างไร

“โครงการที่หมอชิต ค่าตอบแทนทั้งค่าธรรมเนียมและค่าเช่าในช่วง 30 ปี ยังเท่ากับที่เคยตกลงกันไว้ แม้ว่าพื้นที่ใช้สอยจะลดลง จากเดิมมีพื้นที่เกือบ 1 ล้านตารางเมตร เหลือกว่า 7 แสนตารางเมตร เนื่องจากกฎหมายผังเมืองใหม่ ขณะที่คู่สัญญา ทางบางกอกเทอร์มินอลมีความพร้อมจะลงทุนต่อ เขาไม่ทิ้งอยู่แล้ว ส่วนการจะหาแหล่งเงินลงทุนจากไหนนั้น เป็นเรื่องของทางเอกชนคู่สัญญา ส่วนภาครัฐมีหน้าที่เจรจาไปตามกรอบกฎหมายเท่านั้น” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับกรณีที่มีประเด็นว่า ทางบริษัทขนส่ง (บขส.) จะย้ายกลับมาอยู่บริเวณโครงการที่หมอชิตนั้น ยังคงเป็นไปตามกรอบกำหนดพื้นที่ชดเชยที่มีอยู่เดิม คือมีการกันพื้นที่ 120,000 ตารางเมตร ให้กับทาง บขส. ซึ่งล่าสุดมีการเจรจากันเรียบร้อยแล้วว่า จะไม่มีรถบัส 2 ชั้นกลับมาใช้พื้นที่ แต่ทาง บขส.ต่อรองให้มีรถบัสชั้นเดียวได้ จากเดิมที่จะให้แค่รถตู้ เพียงแต่จะเป็นแค่การวนเข้ามารับผู้โดยสารเท่านั้น ไม่ได้จอดตลอดเวลา
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับโครงการร้อยชักสามที่ได้ข้อสรุปจากการเจรจาแล้วนั้น จะกำหนดระยะเวลาโครงการ 30 ปี และเพิ่มช่วงเวลาที่เอกชนต้องดำเนินการบูรณะอาคารเก่าให้อีก 6 ปี รวมเป็น 36 ปี ซึ่งค่าเช่าในส่วน 30 ปี จะเป็นไปตามกรอบเดิม เพราะที่ผ่านมาถือว่าสัญญายังไม่เริ่มต้น ส่วนค่าเช่า
ช่วง 6 ปีที่เพิ่มเติมนั้น จะคิดเพิ่มในอัตราใหม่

“ร้อยชักสามที่เจรจาจบแล้ว จะต้องนำเรื่องเสนอให้คณะกรรมการกำกับสัญญาร่วมทุน ตามมาตรา 43 พิจารณา โดยกำหนดประชุมในช่วงต้น ธ.ค.นี้ และจากนั้นก็ต้องเสนอร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจ เสร็จแล้วต้องกลับมาเข้าคณะกรรมการตามกฎหมาย PPP อีก แล้วจึงเสนอ รมว.คลัง พิจารณานำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป” แหล่งข่าวกล่าว

นายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับสัญญาร่วมทุน ตามมาตรา 43 กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอกรมธนารักษ์นัดประชุมเรื่องสัญญาของโครงการร้อยชักสามอยู่ จากที่ได้ให้มีการเจรจาใหม่ไปเมื่อหลายเดือนก่อน หลังมีคำพิพากษาของศาลออกมาว่า สัญญาระหว่างกรมธนารักษ์กับเอกชนคู่สัญญายังไม่เริ่มนับหนึ่ง ในช่วงราว 11 ปีที่ผ่านมา

ส่วนความคืบหน้าโครงการพัฒนาที่หมอชิตนั้นทราบว่า อยู่ระหว่างเสนอ รมว.คลังพิจารณาร่างสัญญา หลังจากอัยการสูงสุดตรวจร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะเสนอ ครม.เห็นชอบต่อไป

“โครงการพัฒนาที่หมอชิต ตอนนี้ทางกรมธนารักษ์กำลังทำเรื่องเสนอให้ รมว.คลังพิจารณา ก่อนจะเข้า ครม. แล้วก็น่าจะเซ็นสัญญากับเอกชนคู่สัญญาได้ต้นปีหน้า” นายอำนวยกล่าว