ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่า ตลาดจับตาผลประชุมเฟดคืนวันพุธ

ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่า ตลาดจับตาผลการประชุมเฟดคืนวันพุธ(3 พ.ย.64) ขณะที่ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าโดยได้รับปัจจัยหนุนจากการเปิดประเทศ ก่อนที่จะปิดตลาดที่ระดับ 33.23/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/11) ที่ระดับ 33.26/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (1/11) ที่ระดับ 33.37/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากการเทขายเพื่อทำกำไรของนักลงทุน ท่ามกลางการจับตาผลการประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในคืนวันพรุ่งนี้ (3/11) ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ปรับเพิ่มคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในกลางปีหน้า (2565) หลังจากที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ในเดือนกันยายน

นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจองสหรัฐ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลดลงสู่ระดับ 60.8 ในเดือนตุลาคม โดยระดับดัชนีได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงของคำสั่งซื้อใหม่ที่แตะระดับต่ำสุด 16 เดือน ท่ามกลางการขาดแคลนวัตถุดิบและแรงงาน

ในขณะที่ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 58.4 ในเดือนตุลาค ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือน จากการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าโดยได้รับปัจจัยหนุนจากประกาศเปิดประเทศอย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้ (1/11) เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ รวมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาเกือบ 2 ปี

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.22-33.35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.23/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (2/11) ที่ระดับ 1.1596/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (1/11) ที่ระดับ 1.1588/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของกลุ่มสหภาพยุโรปจะออกมาอย่างไร้ทิศทาง แต่ค่าเงินยูโรก็ยังคงแข็งค่าจากการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1584-1.1613 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1590/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/11) ที่ระดับ 114.06/09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (1/1) ที่ระดับ 114.21/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบแคบ จากผลการเลือกตั้งที่พรรคแอลดีพีคว้าชัยชนะตามความคาดหมาย และได้ครองที่นั่งข้างมากในสภา

อีกทั้งชัยชนะของพรรคแอลดีพีจะทำให้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านสภาอย่างราบรื่น หลังจากก่อนเลือกตั้ง นายฟูมิโอะ คิชิเดะ ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะทุ่มงบประมาณนับล้านล้านเยนเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-19 ระบาด โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.45-114.13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 113.52/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมง ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.90/+1.09 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +0.75/+2.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ