ผยง ส่องเศรษฐกิจไทยหลังโควิด แนะ 5 ข้อรับมือโลกไม่เหมือนเดิม

ผยงมองเศรษฐกิจหลังโควิด

“ผยง” ประธานสมาคมธนาคารไทย ส่องเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 คาดไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศพัฒนาแล้ว 3 ปี ระบุจีดีพีปี 65 โตได้ 4.5% ปีนี้ 1% เผยเผชิญเศรษฐกิจ “เสี่ยงสูง-เปราะบางเพิ่มขึ้น” แต่ “เก่งขึ้น-มีความพร้อมมากขึ้น” รับมือโลกที่ไม่เหมือนเดิม แนะ 5 ข้อ ภาคธุรกิจรับมือ Next ERA ก้าวต่อไป-แข่งขัน-อยู่รอดได้

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวในหัวข้อ “Vision from the next ERA” ว่า ตอนนี้วิกฤตได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว สะท้อนผ่านปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวค่อนข้างเร็ว ทำให้เกิดการขาดแคลนชิป ตู้คอนเทรนเนอร์ และราคาน้ำมันที่เร่งตัวขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น

ซึ่งเป็นภาพบวกว่าเศรษฐกิจได้ผ่านจุดต่ำสุด โดยปัจจุบันประชากรทั่วโลกได้รับวัคซีนเข็ม 1 มีมากกว่า 50% จึงมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวได้ 5.5-6% และในปี 2565 จะขยายตัวในระดับ 4-5%

สำหรับประเทศไทย คาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวปีนี้จะอยู่ที่ 1% หรือต่ำกว่านั้น โดยในปี 2565 จะขยายตัวได้ 4.5% ซึ่งเป็นการเติบโตในอันดับรั้งท้ายในเอเชีย ซึ่งมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีการพึ่งพานักท่องเที่ยว โดยมองว่าโลกใบใหม่หลังจากโควิด-19 จะไม่เหมือนเดิม และจะไม่กลับมาเหมือนเดิม โดยโควิด-19 ทำให้หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป

“แม้เศรษฐกิจโลกจะกำลังมาฟื้นตัวเร็ว ซึ่งเป็นบิ๊กเซอร์ไพร์ส แต่ก็มีภาพลบอยู่ เนื่องจากมีอาการเดินเซ ไม่คล่องแคล่วจากการฟื้นตัว โดยจะเห็นการฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาคงยังมาเห็นการฟื้นตัวใน 3 ปีนี้ โดยยังคงวิ่งไล่ตามเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งจากข้อมูล Global Covid-19 Index หรือ Recovery Index พบว่าไทยอยู่ในอันดับ 87 จาก 180 เขตเศรษฐกิจ”

จับตา 4 ปัจจัยโลกหลังโควิด เสี่ยงสูง-เปราะบาง แต่ “เก่งขึ้น-พร้อมมากขึ้น”

ทั้งนี้ โลกใบใหม่หลังโควิด-19 จะมี 4 ประเด็นด้วยกัน คือ 1.เสี่ยงมากขึ้น โดยปัญหาจากอีกฝั่งโลกจะมาถึงเราได้ เช่น ภาวะโลกร้อน และความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์ (Cyber Crime) ซึ่งสร้างมูลค่าความเสียหายถึง 2.6 ล้านดอลลาร์ หรือความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่สร้างผลกระทบต่อเนื่อง

2.เปราะบางมากขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวลักษณะ K Shaped ซึ่งกลุ่มเปราะบางอยู่แล้วได้รับการซ้ำเติม เช่น ประเทศที่มีรายได้น้อย และกลุ่มที่ไม่สามารถปรับตัวได้ ซึ่งเศรษฐกิจไทยเผชิญ K Shaped เนื่องจากมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูง 90% และมีลูกหนี้ที่เข้าโครงการขอความช่วยเหลือสูงถึง 2 ล้านล้านบาท

และด้านบวก คือ 3.โลกเก่งมากขึ้น โดยจะเห็นคนและองค์กรปรับตัวรวดเร็ว เพื่อเอาชนะวิกฤตครั้งนี้ โดยมีงานวิจัยเผยว่าคนสูงอายุมีความรู้ทางด้านดิจิทัลเทคโนโลยีมากขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีการปรับใช้โมบายแบงกิ้งสูงถึง โดยตัวเลข 7 เดือนของปีนี้เพิ่มขึ้นถึง 68% และมีการยืดหยุ่นในการทำงานและยังสามารถสร้างผลผลิต (Productivity) ได้

ส่วน 4.พร้อมมากขึ้น โดยมีการ Agile Economy โดยการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะนำบาทดิจิทัล หรือ CBDC มาใช้ ขณะที่เอกชนก็มีความพร้อมมากขึ้นในการใช้ผ่านโครงการต่างๆ เช่น คนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งทำให้ตลาดคอนซูมเมอร์ และผู้กำกับดูแล (Regulator) สามารถต่อยอดนวัตกรรมและสร้างโอกาสในการทำธุรกิจ

ผลักดัน 5 ด้านรับโลกอนาคต Next ERA

นายผยง กล่าวต่อไปว่า สำหรับ Next ERA โดยคนจะก้าวต่อไป แข่งขันได้ และสามารถอยู่รอดได้จะต้องมี 5 ข้อด้วยกัน คือ 1.G : Green economy โลกกำลังมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยโลกจะต้องมีการลงทุนอย่างน้อยปีละ 4 ล้านล้านดอลลาร์ ภายใน 10 ปี และหลายประเทศประกาศเป็นแผน Agenda ซึ่งประเทศไทยต้องเป้ายุทธศาสตร์ภายในปี 2565 และเราเริ่มเห็นผู้เล่นรายใหญ่ขยับตัว

โดยภาคการเงินได้มีการระดมทุนผ่านกรีนบอนด์ ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกมีการออกกรีนบอนด์ไปมากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ และธปท.และสมาคมธนาคารไทย (TBA) จะยกระดับเรื่อง Green economy เข้าไปรวมในแผนพัฒนาด้วย

2.RE : Re Opening Thailand เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมาไทยได้กลับมาเปิดประเทศหลังจาก 2 ปี ทำให้ภาคการท่องเที่ยวที่เคยสร้างรายได้มากกว่า 1.9 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 10% ของจีดีพี มีนักท่องเที่ยวกว่า 40 ล้านคนซบเซาจากปี 2562 อย่างไรก็ดี การเปิดประเทศยังคงมีความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อ และหลายประเทศยังคงห้ามนักท่องเที่ยวเดินทาง

เช่น จีน ทำให้คาดว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาได้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ดังนั้น เมื่อสถานการณ์ไม่เหมือนเดิมไทยควรเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ จะเห็นผ่านตัวเลขรายได้ในปี 2562 พบว่ารายได้ท่องเที่ยวปรับเพิ่มขึ้น 4% แต่การใช้จ่ายต่อหัวกลับปรับลดลง 2% ซึ่งไทยควรหันไปดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อสูง

และภาคการส่งออก จากปัญหาแคลนขาดชิป หรือซัพพลายดิสรัปชั่น ทำให้ซพลลายเชนโลกสั้นลง และไทยมีความสามารถในการแข่งขันลดลงเมื่อเทียบกับประเทศเวียดนาม ซึ่งการส่งออกที่มีการเติบโต 6.9% และไทยกดตัว -5.5% และในปีนี้ช่วง 8 เดือนแรกเวียดนามขยายตัวไปแล้วกว่า 20% และขยายตัวกว่าไทยพอสมควร ดังนั้น ไทยจะต้องเร่งพัฒนาวิจัย (R&D) และเร่งเจรจาหุ้นส่วนทางการค้า หรือ CPTPP เพื่อไม่ให้ประเทศเสียเปรียบประเทศอื่น ซึ่งไทยมีสัญญาการค้า 23 ฉบับ คิดเป็นสัดส่วน 69% ของสัดส่วนการค้าทั้งหมด

3.W : Work and Workforce of the future จะเติบโตอย่างไรในงานที่เปลี่ยนแปลง โดยจำเป็นต้องใช้ HR Development และ HR Management ซึ่งหลายองค์กรทั่วโลกได้สร้างแพลตฟอร์มให้พนักงานได้เรียนรู้และเสริมทักษะใหม่ๆ และหากเรียนรู้ผ่านจะมีการเพิ่มอัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้น ซึ่งจากข้อมูลวิจัยพบว่าในปี 2568 จะมีพนักงาน 97 ล้านต่ำแหน่งที่จะต้องทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติ และในอนาคตจะเริ่มเห็นสงครามการแย่งหัวกะทิ หรือ talent War ซึ่งองค์กรจะต้องพยายามแข่งขันเพ่อเก็บรักษากลุ่มนี้และการแย่งชิงดึงดูดกลุ่มนี้เข้ามาร่วมทำงาน

4.T: Technology driven องค์กรจะต้องมี Speed ของการดูดซับองค์ความรู้และต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มจากเทคโนโลยี ซึ่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นการพัฒนาในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา โดย Next gen tech ของปี 2568 ขอมูล 75% ของภาคธุรกิจจะถูกวิเคราะห์ใน Cloud computing และในปี 2578 ข้อมูลที่ถูกประมวลผลจะเร็วกว่าปัจจุบัน 100 ล้านเท่าจะมีมูลค่าการใช้งานทั่วโลก 1 ล้านล้านดอลลาร์

ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี และการลงทุนพัฒนาและวิจัย (R&D) เช่น การแพทย์ รถไฟฟ้า ซึ่งจากข้อมูลกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า หากไทยเพิ่มงบประมาณการวิจัยพื้นฐาน 1 ใน 3 และภาครัฐลงทุนเพิ่มเติม จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 0.2% จากงบประมาณการลงทุน

และสุดท้าย 5.H : Healthcare สุขภาพสมบูรณ์มั่งคั่ง โดยไทยกำลังเข้าสาสังคมสูงวัยที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะมี 9 ล้านคน หรือ 13% ในปี 2565 และจะเพิ่มเป็น 19.5 ล้านคน หรือ 30% ของประชากรทั้งหมดในปี 2593 จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจ เช่น เครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์ สถานพยาบาล ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งหากผนวกกับเทคโนโลยี (MedTech) ก้าวเข้าสู่ Healthcare Startup จะขยายตัวได้ดี เหมือนบริษัท Teladoc Health ทีมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 156%

“โดยสรุปหากภาคธุรกิจสามารถเติบโตใน 5 ด้าน จะเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีการเติบโตได้ดีขึ้น และสามารถแข่งขันได้อย่างเต็มภาคภูมิหลังสถานการณ์โควิด-19 และเราไม่ได้แข่งกับโลกเท่านั้น แต่ต้องแข่งขันกับตัวเองทุกวัน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน”