โทเคนดิจิทัลธุรกิจไทย เป้าหมายยึดหัวหาดอี-คอมเมิร์ซ

โทเคนดิจิทัล
ภาพจาก pixabay

รวมโทเคนดิจิทัลจากธุรกิจในประเทศไทย มุ่งสู่อนาคตของการเป็นอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซอย่างแท้จริง

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีมติเห็นชอบให้ออกประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 11) ซึ่งได้ลงราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป โดยไม่มีผลย้อนหลัง

โดยประกาศดังกล่าวห้ามศูนย์ซื้อขายให้บริการ “Utility Token พร้อมใช้” หรือคริปโทเคอร์เรนซี ที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ มาซื้อขายในศูนย์ซื้อขาย

  • ไม่มีวัตถุประสงค์หรือสาระชัดเจนหรือไม่มีสิ่งใดรองรับโดยมีราคาขึ้นอยู่กับกระแสในโลกโซเชียล (Meme Token)
  • เกิดจากกระแสความชื่นชอบส่วนบุคคล (Fan Token)
  • โทเคนดิจิทัลที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีมาใช้แสดงความเป็นเจ้าของหรือให้สิทธิในสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือที่เฉพาะเจาะจง โดยไม่สามารถใช้โทเคนดิจิทัลประเภทและชนิดเดียวกัน และจำนวนเท่ากันแทนกันได้ (Non-Fungible Token : NFT)
  • โทเคนดิจิทัลที่ออกโดยศูนย์ซื้อขายเองหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ซื้อขายเพื่อวัตถุประสงค์ ในการใช้ประโยชน์สำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชน (blockchain)

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ศูนย์ซื้อขายต้องจัดให้มีข้อกำหนดว่า ในกรณีของโทเคนดิจิทัลที่ออกโดยศูนย์ซื้อขายเองหรือออกโดยบุคคลที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ซื้อขาย หากผู้ออกโทเคนดิจิทัลดังกล่าวไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดในสมุดปกขาว (white paper) ซึ่งหมายถึงเอกสารข้อมูล รายละเอียดต่างๆ จากเจ้าของเทคโนโลยี และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในสาระสำคัญ จะเป็นเหตุให้ศูนย์ซื้อขายเพิกถอนโทเคนดิจิทัลดังกล่าวออกจากการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายได้

หลังจากประกาศดังกล่าว ปัจจุบันพบว่าองค์กรต่าง ๆ ทยอยบุกตลาดคริปโตเคอร์เรนซี และเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัล วางแผนการร่วมลงทุนและก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซอย่างแท้จริง

Advertisment

ปรากฏการณ์ดังกล่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมคริปโตเคอร์เรนซีที่องค์กรในประเทศไทยผลิตเพื่อใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน ดังนี้

C-coin

วันที่ 29 ตุลาคม 2564 นายโกวินทร์ กุลรัชกร หัวหน้าเจ้าหน้าที่นวัตกรรมของ Central Tech บริษัทผู้สร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีในเครือของ Central Retail (CRC) ผู้พัฒนา C-Coin และดูแลทุกช่องทาง Omni-Channel และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของ CRC เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าการพัฒนาสกุลเงิน C-Coin ของบริษัทอยู่ในช่วงของการทดลองใช้สกุลเงินดิจิทัลกับพนักงานของบริษัท

โดย “C-Coin” เป็นสกุลเงินดิจิทัลขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ใช้นำร่องให้แก่พนักงานของในเครือราว 1,000 คนได้ทดลองใช้ก่อน ซึ่งผู้ถือเหรียญสามารถใช้ C-Coin เพื่อชำระค่าอาหารหรือซื้อสินค้าและบริการจากพันธมิตรของ Central Retail

หลังจากนี้จะขยายการใช้งานไปยังพนักงานในเครือเซ็นทรัลทั้ง 80,000 คนทั่วโลก เพื่อสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งผ่านการใช้งาน C-Coin ภายในองค์กร โดยขณะนี้อยู่ในช่วงของการขยายการใช้งานเพิ่มเติม รวมทั้งการเชื่อมระบบในการใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ของบริษัท ให้มีศักยภาพรองรับการใช้งานได้มากกว่าเดิม

Advertisment

โดยขณะนี้อยู่ในช่วงของการทดสอบของบริษัท โดยวัตถุประสงค์ระยะยาวคือการเปลี่ยนไปสู่สังคมไร้เงินสด การร่วมทุน และก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซอย่างแท้จริง

ทั้งนี้แนวคิดการใช้ C-Coin ส่งผลให้เกิด engagement ของพนักงานที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการใช้งาน Application ที่สะดวกสบาย เพื่อรองรับการทำธุรกรรมต่างๆ แบบ cashless ส่วนเรื่องเม็ดเงินหมุนเวียนนั้น ขึ้นอยู่กับงบของแต่ละ BU (Business Unit) จะแล้วแต่ว่า ใน BU นั้นๆ มีการต้ัง Budget Employee Engagement per head ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถสร้างเม็ดเงินเพิ่มได้อย่างแน่นอน

Popcoin

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันแนวโน้มตลาดการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตขึ้นมากในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา แต่ทางเลือกในการลงทุนสำหรับผู้ที่สนใจถือสินทรัพย์ดิจิทัลภายในประเทศมีอยู่ค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัลในกลุ่มโทเคนดิจิทัลที่มีความน่าเชื่อถือและมีธุรกิจรองรับ

อาร์เอส เล็งเห็นโอกาสจึงได้ร่วมกับบริษัทในเครือ โฟร์ท แอปเปิ้ล ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการสร้างคอนเทนต์และการตลาดดิจิทัล เปิดตัว Popcoin พร้อมกับสร้างเหรียญ Popcoin Token ของตนเองขึ้น เพื่อเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนและทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์ม

ทั้งนี้ เหรียญ Popcoin เป็นเหรียญที่พัฒนาอยู่บน “Bitkub Chain” ได้เข้าหารือกับสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อจดทะเบียนเหรียญบนกระดานเทรด ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล “Bitkub” ตลาดซื้อขายชั้นนำของประเทศไทยภายในต้นปี 2565

Popcoin สามารถนำไปใช้ได้กับ 3 กลุ่มหลัก ดังนี้

1.บริษัทหรือแบรนด์สินค้าต่างๆ ที่ต้องการทำแคมเปญการตลาด Popcoin จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในด้านการวัดผลทางการตลาด และสามารถใช้สร้างแคมเปญเพื่อเพิ่ม Engagement ทางตรงให้กับผู้บริโภคได้อย่างตรงเป้าหมายและเต็มประสิทธิภาพ โดยใช้งบประมาณได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น พร้อมกับเป็นเครื่องมือต่อยอดทางการตลาดที่ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายได้

2. ผู้บริโภค Popcoin จะเป็นแรงจูงใจที่ช่วยให้ผู้บริโภคเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ และรับประสบการณ์ใหม่ๆ กับคอนเทนต์ของ แบรนด์ หรือ Content Creator รวมถึงนำมาเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในเครืออาร์เอส ภายใต้ Popcoin Ecosystem

3. ผู้ผลิตคอนเทนต์หรืองานบันเทิง ซึ่งสร้างคอนเทนต์บันเทิงในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผลงานศิลปะ สื่อออนไลน์ ทีวี หรือแม้แต่อีเวนท์ Popcoin จะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ Content Creator สามารถนำเสนอ Content ของตัวเองไปยังกลุ่มเป้าหมาย ช่วยเพิ่มฐานผู้ติดตามได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นอีกช่องทางในการการสร้างรายได้เพิ่มนอกเหนือจากโมเดลธุรกิจแบบเดิม ๆ

Token X

หลังการประกาศเข้าลงทุนใน บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (Bitkub Online) ของ “กลุ่มเอสซีบี เอกซ์” (SCBX) ยานแม่ลำใหม่ของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) โดยส่งบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) เข้าไปถือหุ้นใหญ่ 51% ด้วยมูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 17,850 ล้านบาท ถือเป็นการต่อจิ๊กซอว์ภาพการรุกเข้าสู่ธุรกิจ “สินทรัพย์ดิจิทัล” (digital asset) ของกลุ่มไทยพาณิชย์ที่ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น

ต่อมา วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 นางสาวจิตตินันท์ ชาติสีหราช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด (Token X) เปิดเผยว่า Token X ได้รับความเห็นชอบในการเป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นที่เรียบร้อย

โดยอยู่ระหว่างการรอเปิดใช้งาน ซึ่ง ICO Portal ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจที่จะมีส่วนช่วยผลักดันให้กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ สามารถบรรลุพันธกิจได้ตามเป้าหมาย ผ่านการสร้างขีดความสามารถใหม่ทางด้าน Digital Asset Tokenization ควบคู่กับการวางรากฐานระบบนิเวศด้านสินทรัพย์ดิจิทัลที่แข็งแกร่งในประเทศไทย

โดยบริษัทเตรียมพร้อมให้บริการเกี่ยวกับธุรกิจโทเคนดิจิทัลแบบครบวงจร ครอบคลุมบริการที่ปรึกษา-วางแผนการออกโทเคนดิจิทัล-การพัฒนาด้านบล็อกเชนและเทคโนโลยี ซึ่งที่ผ่านมาเราได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าระดับองค์กรในหลากหลายอุตสาหกรรมชั้นนำระดับประเทศ ที่ให้ความสนใจและตอบรับเข้าร่วมวางแผนการทำ Tokenization กับ Token X ตั้งเป้าเป็นองค์กรชั้นนำในอาเซียนด้าน Digital Asset Tokenization ภายในปี 2025

Sirihub Token

เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ทำการแลกเปลี่ยน “โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนสิริฮับ” (SiriHub Investment Token) อ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate-backed ICO) รายแรกของไทยต่อประชาชนครั้งแรก โดยมี “สิริ แคมปัส” สำนักงานใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เป็นสินทรัพย์อ้างอิง

โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนสิริฮับ ซึ่งเป็นรูปแบบการลงทุนใหม่ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเชื่อมโลกตลาดทุน โดยมีเป้าหมายหลัก คือ ต้องการเปิดโอกาสให้นักลงทุนทุกกลุ่มเข้าถึงการลงทุนที่อ้างอิงกับอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง สามารถเริ่มต้นลงทุนจากเงินจำนวนน้อย

ผู้ออกโทเคนดิจิทัลคือ “บริษัท เอสพีวี 77 จำกัด” มูลค่าการระดมทุน 2,400 ล้านบาท โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนสิริฮับ มีให้เลือกลงทุน 2 กลุ่ม คือ สิริฮับ A (SiriHubA) จำนวน 1,600 ล้านบาท และสิริฮับ B (SiriHubB) จำนวน 800 ล้านบาท

เงินที่ได้จากการระดมทุนนำไปลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งกระแสรายรับจากกลุ่มอาคารสำนักงาน สิริ แคมปัส และหุ้นร้อยละ 100 ของ บริษัท สิริพัฒน์ โฟร์ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในกลุ่มอาคารสำนักงาน สิริ แคมปัส ซึ่งในปัจจุบันมี บมจ.แสนสิริเป็นผู้เช่า และทำสัญญาเช่าระยะเวลา 12 ปี

จากนั้นผู้ออกโทเคนดิจิทัลจะจัดสรรส่วนแบ่งรายได้ที่ได้รับจากค่าเช่ากลุ่มอาคารสำนักงานสิริ แคมปัส หลังหักค่าใช้จ่าย ให้แก่ผู้ถือโทเคนดิจิทัล เป็นรายไตรมาส ตลอดอายุโครงการ 4 ปี

ภายในระยะเวลา 12 เดือนก่อนสิ้นสุดอายุโครงการ ผู้ออกโทเคนดิจิทัลจะจัดให้มีกระบวนการในการจำหน่ายทรัพย์สินโครงการ โดยผู้ลงทุนจะได้ส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายทรัพย์สินเมื่อสิ้นสุดโครงการ (หลังหักค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขาย เป็นต้น)

ราคาจองซื้อ 10 บาท ต่อ 1 โทเคน มูลค่าการจองซื้อขั้นต่ำ 10 บาท ต่อครั้ง มีจำนวนจำกัดเพียง 240 ล้านโทเคนเท่านั้น นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ทั้ง 2 กลุ่ม โดยผู้ลงทุนรายย่อยกำหนดมูลค่าจองซื้อรายละไม่เกิน 300,000 บาท ส่วนผู้รายใหญ่พิเศษ ผู้ลงทุนสถาบัน นิติบุคคลร่วมลงทุน และกิจการเงินร่วมลงทุน ไม่จำกัดมูลค่าจองซื้อ

โดยจะจัดสรรโทเคนดิจิทัลตามลำดับการชำระเงิน (First Come, First Served) จนกว่าโทเคนจะหมด ทั้งนี้นักลงทุนรายย่อยต้องลงทะเบียนและยืนยันตัวตนในแอปพลิเคชัน “XSpring” ก่อน เพื่อเตรียมจองซื้อเท่านั้น

GoldGo

ข้อมูลจาก Zipmex แพลตฟอร์มการลงทุนซื้อ-ขายทรัพย์สินดิจิทัล ระบุว่า GoldGo เป็น Utility token ที่อิงกับทองคำโดยที่สามารถเป็นเจ้าของทองคำได้อย่างปลอดภัยและโปร่งใสสำหรับผู้ซื้อ เทรดเดอร์ และนักลงทุนในประเทศไทย

GoldGo เป็นทองคำที่ถือเป็นสินทรัพย์ประเภท Store of value ที่แพร่หลายที่สุด และเป็นประเภทสินทรัพย์ในตัวของมันเอง ที่ไม่สามารถเปลี่ยนรูปและยังมีความปลอดภัยของเทคโนโลยี Blockchain

โทเคน GOGO แต่ละโทเคนจะอิงด้วยทองคำอัตราส่วน 1:1 ด้วยทองคำ 23K จำนวน 1 กรัมที่เก็บอยู่ใน Vault ของพันธมิตร และ โทเคน GOGO จะถูกสร้างหรือเผาเมื่อมีการซื้อหรือแลกเปลี่ยนโทเคน

GoldGo ต้องการเพิ่มสภาพคล่อง การเข้าถึงและแก้ปัญหาในการชำระและมีความชอบธรรมในการอนุญาตให้ซื้อทองคำในสกุลเงินที่น้อยกว่า, เพิ่มความสะดวกทางดิจิทัลและผู้ขายสามารถตรวจสอบได้

GoldGo สร้างขึ้นบน GoldPro ซึ่งเป็น Sidechain ของ GoldGo Ethereum ที่ได้รับอนุญาต ซึ่งทำให้สามารถซื้อ ส่ง และแลกทองได้จาก Wallet อย่างสะดวกสบาย

มีเป้าหมายที่จะนำทองคำ ซึ่งเป็นหนึ่งในสินทรัพย์มีค่าที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เข้าสู่ระบบ Blockchain โดยการผูกโทเคนกับทองคำในลักษณะ 1:1 ซึ่ง 1 GOGO จะเท่ากับ ทองคำ 23K จำนวน 1 กรัม กล่าวคือ ผู้สนใจลงทุนสามารถลงทุนในทองคำได้โดยไม่จำเป็นต้องถือทองคำจริง ๆ ที่มีความยุ่งยากในการเก็บ และยังสามารถซื้อทองคำในปริมาณที่น้อยกว่า 1 กรัม รวมไปถึงสามารถโอนหรือแลกเปลี่ยนเป็นทองคำจริงได้ง่ายดายอีกด้วย