ดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่า ท่ามกลางความกังวลการแพร่ระบาดโควิดในยุโรป

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/11) ที่ระดับ 32.80/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (19/11) ที่ระดับ 32.73/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากค่าเงินดอลลาร์กลับมาเป็นที่ต้องการในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ในยุโรป นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด หลังมีการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 30 ปี

โดยนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ เรียกร้องให้เฟดเร่งการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยโดยเร็วที่สุดในช่วงฤดูใบไม้ผลิในปีหน้า โดยทาง FedWatch Tool ของ CME Group ซึ่งวิเคราะห์การซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐ พบว่านักลงทุนเพิ่มการคาดการณ์ว่าเฟดมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2565 จากเดิมที่คาดไว้ในเดือนกรกฎาคม 2565

นอกจากนี้นักลงทุนจับตาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานเฟดคนใหม่ โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน อาจเสนอชื่อประธานเฟดคนต่อไปในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด และนางลาเอล เบรนาร์ด หนึ่งในคณะผู้ว่าการเฟด ถือเป็น 2 ตัวเก็งที่อาจได้รับการเสนอชื่อให้เป็นประธานเฟดคนใหม่ โดยนายพาวเวลล์จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และมีการคาดการณ์กันว่า หาก ปธน.ไบเดนเสนอชื่อนายพาวเวลล์ใหดำรงตำแหน่งประธานเฟดเป็นสมัยที่ 2 เขาก็อาจเสนอชื่อนางเบรนาร์ดให้ดำรงตำแหน่งรองประธานเฟดฝ่ายกำกับดูแล ซึ่งจะมีหน้าที่รับผิดชอบด้านการกำหนดกฎระเบียบควบคุมตลาดหุ้นวอลล์สตรีท

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขการส่งออกในเดือนตุลาคม ขยายตัว 17.4% ที่มูลค่า 22,738 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้า ขยายตัว 34.6% ที่มูลค่า 23,108 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ การส่งออกของไทยในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การเตรียมเปิดประเทศในหลายประเทศ และค่าเงินบาทที่ยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่า ช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาให้กับสินค้า

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2565 นั้น รมว.พาณิชย์ขอรอประเมินสถานการณ์ในภาพรวมร่วมกับภาคเอกชนผู้ส่งออก ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ก่อน เพื่อประเมินสถานการณ์ เนื่องจากยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ จะมีปัจจัยใดเข้ามาเป็นตัวแปรเป้าส่งออกปีหน้าหรือไม่ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.82-32.94 บาท/ดอลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.88/91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/11) ที่ระดับ 1.1285/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตาดในวันศุกร์ (19/11) ที่ระดับ 1.1300/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ท่ามกลางความกังวลการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่

โดยนายเยนส์ สปาห์น รัฐมนตรีสาธารณสุขเยอรมนี กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเยอรมนีมีความรุนแรงมาก ทำให้รัฐบาลอาจจะต้องนำมาตรการต่าง ๆ มาบังคับใช้ ไม่เว้นแม้แต่มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายวันในเยอรมนีพุ่งขึ้นมากกว่า 50,000 ราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศมากกว่า 5.2 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตสะสมเกือบ 100,000 ราย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1259-1.1292 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1285/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/11) ที่ระดับ 114.08/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (19/11) ที่ระดับ 114.02/04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนยังคงเคลื่อนไหวในเชิงอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขั้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้

ส่งผลให้ความแตกต่างในนโยบายการเงินและส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่น กดดันค่าเงินเยนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.93-114.28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 114.07/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ข้อมูลรายได้/การใช้จ่ายส่วนบุคคล และดัชนี PCE/Core PCE Price เดือน ต.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย. จีดีพีไตรมาส 3/64 (ครั้งที่ 2) และรายงานการประชุมเฟด (2-3 พ.ย.)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.60/+0.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.40/-0.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ