คลังสั่งแบงก์รัฐออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ปล่อยกู้สถานีชาร์จรถอีวี

คลังหนุนนโยบายรัฐผลักดันรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมใช้ภาษีสรรพสามิตสนับสนุนการผลิต สั่งแบงก์รัฐออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ปล่อยกู้สถานีชาร์จ ชี้บอร์ดอีวีเล็งตั้งกองทุนลดราคาเหลือเท่ารถยนต์สันดาป จูงใจคนใช้มากขึ้น

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ บอร์ดอีวี ได้เข้ามาขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ซึ่งจะต้องดูอย่างรอบด้าน ทั้งการผลิต และแบตเตอรี่ เป็นต้น เพื่อให้ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่ ซึ่งก็มีความคืบหน้าตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการกระทรวงการคลัง จะใช้ภาษีสรรพสามิตเข้าไปช่วยหนุนโดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา

ขณะเดียวกันยังต้องเข้าไปดูเรื่องกลไกราคา เนื่องจากราคารถไฟฟ้าที่ยังมีราคาสูง อาจไม่จูงใจให้คนมาใช้ จึงต้องทำให้กลไกราคาใกล้เคียงกับรถยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมัน หรือรถยนต์สันดาป ส่วนสถานีชาร์จไฟฟ้านั้น อาจต้องใช้กลไกของแบงก์รัฐในการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยถูกเข้าไปสนับสนุนให้มีการลงทุนมากขึ้น เพื่อให้มีสถานีชาร์จกระจายทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

“เราจะเข้าไปดูว่าจะเข้าไปสนับสนุนส่วนไหนที่จะทำให้ราคาลดลงไปได้ ซึ่งอาจจะเป็นลักษณะกองทุน กำลังพิจารณาในบอร์ดอีวี โดยขณะนี้บอร์ดมีแนวทางที่อยากให้ราคาใกล้เคียงรถสันดาปมากที่สุด แต่ยังตอบไม่ได้ว่าจำนวนเท่าไหร่ ส่วนจะเห็นความชัดเจนได้เมื่อไหร่นั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบอร์ด”

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็มีนโยบายให้ไทยมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะรถกระบะ ซึ่งไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถกระบะขนาดใหญ่ของโลก ก็จะต้องส่งเสริมให้มีการผลิตรถกระบะไฟฟ้า ซึ่งนอกจากส่งเสริมการผลิตเพื่อขายในประเทศ ยังต้องส่งเสริมให้มีการส่งออกควบคู่กัน ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้หน่วยงานราชการนำร่องการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ด้วยการจัดเช่าจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้แทนรถยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมัน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานที่ไทยได้ไปประกาศเจตนารมณ์ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ในเวที COP26 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ล่าสุด กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และ กฟผ. ได้ร่วมกันเปิดสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT ภายในพื้นที่ของกระทรวงการคลัง เพื่อใช้สำหรับรถยนต์ของทางราชการ อำนวยความสะดวกให้ข้าราชการและผู้มาติดต่อราชการกระทรวงการคลัง โดยสถานีดังกล่าวเป็นสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Normal Charge ขนาด 22 กิโลวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง ใช้เงินลงทุน 500,000 บาท

ซึ่งจะเป็นโมเดลสถานีอัดประจุไฟฟ้าต้นแบบสถานีอัดประจุไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในสถานที่ราชการแห่งแรก โดยคิดราคาค่าบริการ 5.50 บาท/หน่วย โดยตั้งเป้าขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Normal Charge ได้ไม่ต่ำกว่า 40 แห่งภายในปีนี้ และเพิ่มอีก 30 แห่งในปี 65 ขณะที่ราคาให้บริการของสถานีชาร์จที่อยู่นอกพื้นที่หน่วยงานราชการ จะมีราคาประมาณ 7 – 9 บาทต่อหน่วย