เปิดโลกนักการเงินรุ่นใหม่ YFS ลงสนามตลาดเงินตลาดหุ้นมาเลเซีย-เกาหลี (จบ)

หลังฝ่าด่านการประกวดวางแผนการเงินและการลงทุน ในโครงการ “Young Financial Star” (YFS) 2017 มาได้

บรรดานักศึกษาที่ชนะเลิศการประกวดก็ได้ร่วมทริปกับทาง บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต บมจ.ปตท. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) บมจ.ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) ฯลฯ ไปทัศนศึกษาดูงานตลาดหลักทรัพย์เบอร์ซา มาเลเซีย (Bursa Malaysia) และบริษัทประกันภัยรายใหญ่ (Etiqa Insurance) ของมาเลเซีย

รวมถึงยังข้ามฟ้าไปชมพิพิธภัณฑ์ธนาคารเกาหลี (Bank of Korea Money Museum) ที่ประเทศเกาหลีใต้อีกด้วย

โดย “ทยาวัต ศรอินทร์” นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของรางวัลชนะเลิศ “TFEX Derivatives Star” และรองชนะเลิศอันดับ 1 “Set Investment Star” เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาเล่าให้ฟังว่า การไปดูงานตลาดหลักทรัพย์เบอร์ซา ทำให้ได้เรียนรู้องค์ประกอบของระบบการเงินอิสลาม ที่มีพื้นฐานมาจาก “กฎหมายอิสลาม หรือชะรีอะห์” ที่ต้องยึดเป็นหลักในการทำธุรกิจหรือธุรกรรมต่าง ๆ

Advertisment

ซึ่งตลาดเบอร์ซา จะเป็นตลาดหลัก และมีตลาดย่อย 2 ส่วน คือ LFX (Labuan International Financial Exchange) กับ LEAP (Leading Entrepreneur Accelerator Platform)

“LEAP เกิดขึ้นเพื่อรองรับกลุ่มบริษัทขนาดเล็กที่อาจจะยังไม่ผ่านเกณฑ์บางอย่าง จึงไม่สามารถจดทะเบียนใน LFX ได้” นายทยาวัตอธิบาย พร้อมให้มุมมองว่า การจะเข้าไปลงทุนตลาดหุ้นแต่ละประเทศ หากมีความเข้าใจตลาดหลาย ๆ ประเทศ จะมีโอกาสเพิ่มขึ้น เช่น ในบางปีราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น ตลาดหุ้นมาเลเซียจะน่าสนใจ เพราะมาเลเซียเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นต้น

“จากนี้ ผมคงแบ่งเงินไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น จากเดิมที่ยังไม่เคยลงทุนเลย น่าจะเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์หนึ่งในการแสวงหาโอกาสการลงทุนที่ช่วยลดความเสี่ยงได้” นายทยาวัตกล่าว

ขณะที่ “มนสิชา อุทิศชลานนท์” นักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ชนะเลิศ “Muang Thai Life Assurance Star” และชนะเลิศ “PTT CSR Star Team” สะท้อนถึงการดูงานที่ “Etiqa Insurance” บริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่ในเครือ “Maybank” ว่า ทำให้เห็นถึงทัศนคติเรื่องการทำประกันชีวิตของคนมาเลเซียและคนไทยที่ต่างกัน

Advertisment

“คนไทยส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อย ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันชีวิต วัดจากอัตราการถือครองกรมธรรม์อยู่ประมาณ 37% ในขณะมาเลเซียเติบโตเกินกว่า 50% เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่มีรายได้สูงและมีความเข้าใจหลักการประกันชีวิตเป็นอย่างดี” นางสาวมนสิชากล่าว

พร้อมเล่าว่า โปรดักต์ตะกาฟุล (Takaful) เป็น 1 ในสินค้าที่ได้รับความนิยมของ “Etiqa Insurance” และมีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมาก ทำให้คิดว่าบริษัทประกันชีวิตของไทย น่าจะพัฒนาโปรดักต์ใหม่ ๆ รวมถึงตะกาฟุลมากขึ้น จะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสเข้าถึงและสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตได้มากขึ้น

“ประกันชีวิตเป็นทางเลือกหนึ่งในการวางแผนการเงินและได้รับผลตอบแทนที่ดี แถมยังได้รับความคุ้มครองชีวิตอีกด้วย” นางสาวมนสิชากล่าว

ปิดท้ายที่ “กรวัฒน์ เตชะพูลผล” นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้คว้ารองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัล “TFEX Derivatives Star” ฉายภาพการไปดูงานพิพิธภัณฑ์ธนาคารกลางเกาหลี (BKMM) ว่า นอกจากจะได้เรียนรู้ความเป็นมาของธนาคารกลางเกาหลีที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว ยังได้รับความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับการผลิตธนบัตร รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินของเกาหลี ซึ่งคล้ายคลึงกับของไทยมาก เพราะใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

ในขณะที่บทบาทของธนาคารกลางเกาหลียังให้ความสำคัญในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นเส้นเลือดของการส่งต่อนโยบายการเงินผ่านดอกเบี้ยนโยบายให้ปฏิบัติงานอย่างถูกต้อง

“ในฐานะคนรุ่นใหม่ หากเราสามารถเข้าใจแก่นของภาระงานและบทบาทหน้าที่ของนักการเงินในสายงานต่าง ๆ ทั้งด้านการลงทุนและวางแผนการเงินจากการถ่ายทอดของมืออาชีพ ก็เหมือนตัวช่วยในการวางแนวทางเพื่อเข้าสู่สายงานอาชีพนี้ เพราะหน่วยงานเกี่ยวกับการเงินต่าง ๆ เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” นายกรวัฒน์กล่าว

ทั้งหมดนี้เป็นกิจกรรมดี ๆ ของโครงการ “YFS” ปี 2017 ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้พัฒนาตัวเองและมีโอกาสมองโลกได้กว้างขึ้น บนถนนสายการเงินและในอนาคตอันใกล้ อาจได้เห็นนักศึกษาเหล่านี้ ก้าวขึ้นมามีบทบาทพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนไทยต่อไป