“กสิกรฯ-SCB” แข่งรุกตลาดภูมิภาค ชิงธงผู้นำ “เทคคอมปะนี”

แม้สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ต้องสาละวนอยู่กับการดูแลสถานะหนี้ของลูกค้า แต่การระบาดของไวรัสก็ทำให้ความเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัล “เร็ว” และ “แรงขึ้น” ตามวิถีชีวิตผู้คนที่เปลี่ยนไป

ขณะเดียวกัน เมื่อความไร้พรมแดนมีมากขึ้น ธุรกิจก็หยุดนิ่งอยู่กับพื้นที่เดิม ๆ ไม่ได้ วันนี้เมื่อฝุ่นควันโควิดเริ่มจางลงจึงได้เห็นบรรดาแบงก์ไทยใหญ่ ๆ เริ่มติดสปีดขยายธุรกิจไปสู่ภูมิภาคอีกครั้ง

กสิกรฯ ลุยธุรกิจไร้ขอบเขตจำกัด

โดยล่าสุด “ธนาคารกสิกรไทย” ประกาศเดินหน้าบุกตลาดภูมิภาคเต็มสูบ หลังจากที่ผ่านมาประสบความสำเร็จแรกจากการสร้างฐานลูกค้า 1.6 ล้านรายได้ในปี 2564 นี้

ซึ่ง “ภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ” รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารยังคงมีวิสัยทัศน์ในการเติบโตในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการระบาดของโควิด-19 โดยแนวคิดการเติบโตจะอยู่ภายใต้ “THE METAMORPHOSIS”

ซึ่งจะเปลี่ยนจากเดิมที่โฟกัสธุรกิจธนาคารเพียงอย่างเดียว เป็น beyond banking ซึ่งจะทำให้บริการของลูกค้าดีขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีผ่านการเปลี่ยนแปลงรูปร่างอย่างรวดเร็วแบบไร้ขีดจำกัด (limitless) ไร้รอยต่อ (seamless) และไร้ขอบเขต (borderless)

“เราจะไม่ติดกรอบอยู่แค่การทำธุรกิจในประเทศไทย เพราะการเติบโตสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกภูมิภาคอย่างไร้ขีดจำกัดด้วยการสนับสนุนเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยจากบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ทั้งการลงทุน ผลิตภัณฑ์ และบริการต่าง ๆ”

โชว์ผลงานภูมิภาคโตฝ่าโควิด

ทั้งนี้ “ภัทรพงศ์” กล่าวว่า การเปลี่ยนสู่ธุรกิจธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาคจะเน้นเรื่องดิจิทัล ไม่จำเป็นต้องใช้สาขาธนาคารอย่างเดียวเช่นในเวียดนาม ที่เดินหน้าด้วยดิจิทัลแบงกิ้งผ่าน K PLUS Vietnam ที่ต่อยอดจากต้นแบบ K PLUS ในไทย และในอนาคตจะมีการเปิดตัวธุรกิจใหม่บนโมเดล banking-as-a service (BaaS) ในการให้บริการมากกว่าธุรกิจการเงินที่จะเริ่มที่เวียดนามเป็นแห่งแรก

ขณะที่ในกัมพูชาได้เปิดตัว payroll lending ลูกค้าได้รับสินเชื่ออย่างง่ายดายผ่านแอปพลิเคชั่นของพันธมิตร ส่วนที่ สปป.ลาวจะยังคงเดินหน้าเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานบริการ QR KBank จากปัจจุบันที่มี 1.3 แสนรายอย่างต่อเนื่อง ด้วยการขยายการใช้งานให้ครอบคลุมทุกธุรกรรมการเงินของลูกค้า

ส่วนในเมียนมาหากสถานการณ์ต่าง ๆ กลับสู่ภาวะปกติ ธนาคารก็พร้อมจะเข้าไปทำธุรกิจต่อ

“ผลการดำเนินงานธุรกิจต่างประเทศในปี 2564 ของกสิกรไทย มีอัตราเติบโตมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 34% ซึ่งธนาคารตั้งเป้าหมายภายในปี 2566 จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ของธุรกิจในต่างประเทศเป็น 5% ของรายได้สุทธิธนาคารทั้งหมด (net total income-NTI) หรือมีรายได้เติบโตถึง 5 เท่า พร้อมขยายฐานลูกค้าดิจิทัลเป็น 6.5 ล้านราย จากปัจจุบันที่มีอยู่ 1.6 ล้านราย และเพิ่มเป็น 10 ล้านรายภายในปี 2567”

“อินโดนีเซีย” เป้าหมายถัดไป

โดยเป้าหมายถัดไปของกสิกรไทยคือการเชื่อมต่อกับอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่สุดและมีประชากรจำนวนมากที่สุดในภูมิภาค เพื่อขยายโอกาสในการทำธุรกิจโดยมีแผนการจัดตั้งบริษัท K VISION FINANCIAL (KVF) เพื่อขยายการลงทุนด้านดิจิทัลในธุรกิจต่าง ๆสู่การเป็นระบบนิเวศ (ecosystem) ทางการเงินในระดับภูมิภาค เพื่อรองรับตลาด digital asset ที่จะเติบโตในตลาดภูมิภาค โดยเฉพาะในประเทศจีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม

ปักหมุดฐานลูกค้า K PLUS โต

ขณะที่ “เรืองโรจน์ พูนผล” ประธานกลุ่มบริษัท KBTG กล่าวว่า ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจำนวนลูกค้าดิจิทัลระดับภูมิภาคที่ใช้บริการ K PLUS จะเพิ่มเป็น 50 ล้านรายภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า หรือเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าจากปัจจุบันที่ผู้ใช้ในประเทศเกือบ 20 ล้านราย และเป้าหมายปลายทางสู่ 100 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรไทย

“อีก 3-5 ปีข้างหน้าลูกค้าทั้งหมดของ KBank ทั้งภูมิภาคน่าจะใกล้ ๆ 50 ล้านคน และเราน่าจะ transform & metamorphosis ไปเป็น FinTech company ระดับ top ของภูมิภาคได้จริง ๆ”

ลุยธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลครบวงจร

นอกจากนี้ “พิพิธ เอนกนิธิ” กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า สำหรับกระแสสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset) นั้น ธนาคารตั้งเป้าหมายเป็น “cryptoeconomy” คือการสร้างคุณภาพที่แตกต่างอย่างยั่งยืนผ่านการใช้เทคโนโลยีมายกระดับความรู้ความสามารถในการทำธุรกิจ

โดยจะมุ่งไปสู่ 7 พื้นที่เป้าหมาย ทั้งการทำ ICO portal, exchange รวมถึงเป็นที่ปรึกษา digital asset ทั้งเป็นโบรกเกอร์ ดีลเลอร์ ฟันด์แเมเนเจอร์ รวมถึงเป็นคัสโตเดียน (custodian) ผู้ดูแลรับฝากหลักทรัพย์ต่าง ๆ ที่ล่าสุดอยู่ระหว่างการดำเนินการ

“digital asset เป็นสิ่งที่แบงก์ไม่ทำ ไม่ได้ ซึ่งเราสามารถคุยกับผู้กำกับได้ว่า นี่คืออนาคตของประเทศไทยที่เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสใหม่ที่จะสามารถทรานส์ฟอร์มตัวเองออกจากไฟแนนเชียลเซอร์วิส เพื่อสร้างการเติบโตใหม่ให้กับประเทศในระยะข้างหน้าได้”

เป้าหมายองค์กรในฝัน

ทั้งนี้ กสิกรไทยตั้งเป้าให้ World Business Group (WBG) เพิ่มจำนวนพนักงานเป็น 1,037 คนในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นถึง 52% จากปี 2563 เพื่อขยายศักยภาพของทีมให้ไปสู่ความสำเร็จได้ และด้วยความตั้งใจที่จะเป็นองค์กรสำหรับ talent ทั่วโลก ซึ่งธนาคารได้เสนอแนวคิด “World of Borderless Growth”

เพื่อสื่อสารให้คนรุ่นใหม่เห็นโอกาสในการเติบโตอย่างไร้ขอบเขตทุกมิติ ทั้ง personal growth การเติบโตผ่านประสบการณ์ทำงานจริงที่ท้าทาย growth of team การเติบโตร่วมกับทีมที่เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน growth of partners

การเติบโตไปพร้อมกับพันธมิตรทั้ง tech company และ startup ระดับโลก และ growth of community การเติบโตเคียงข้างกับสังคมผ่านทุกภารกิจ (mission) ของ WBG ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกค้า สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น

SCB ชี้ตลาดในประเทศโตจำกัด

ขณะที่ฝั่ง “ธนาคารไทยพาณิชย์” ที่ก่อนหน้านี้ได้ประกาศตั้งบริษัทกลุ่มธุรกิจการเงิน (โฮลดิ้ง) ภายใต้ชื่อ -“SCBX” เป็นยานแม่ลำใหม่ มุ่งสู่การเป็นเทคคอมปะนีในระดับภูมิภาคนั้น

ล่าสุด “อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ และประธานกรรมการบริหาร SCBX กล่าวว่า SCBX จะต้องไปโตในตลาดภูมิภาค

เพราะปัจจุบันตลาดในไทยไม่เพียงพอในการเติบโตแล้ว จากปัจจุบัน SCB มีมาร์เก็ตแคปอยู่ 4 แสนล้านบาท หากจะขยายฐานลูกค้า 200 ล้านราย จะไม่สามารถทำได้หากไม่ขยายไปสู่ตลาดภูมิภาค เนื่องจากตลาดในไทยมีขนาด (scale) ไม่มาก

“สุดท้ายหากไม่ออกไปข้างนอกจะจบที่ตลาด red ocean แข่งขันกัน โดยการตัดราคารุนแรง ไม่ก่อให้เกิดนวัตกรรม และไม่มีกำไร ดังนั้น การเข้าไปหาโอกาสในต่างประเทศจะเป็น priority หลัก เพราะเรามีตัวที่เป็น cash cow ของธนาคารที่ประคองธุรกิจในประเทศพอแล้ว

แต่การไปต่างประเทศจะต้องเป็น technology platform business ซึ่งเบื้องต้น เรามีโรบินฮู้ดที่จะขยายไปสู่ตลาดในภูมิภาค เพราะการขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศจะมาพร้อมฐานลูกค้าหลายร้อยล้านคน เพราะถ้าเรายังเป็นแค่ domestic player และไม่ทำอะไรเลย เราจะโดน global player กินรวบ” ซีอีโอไทยพาณิชย์กล่าว

ส่งยานแม่ตะลุยลงทุนบริษัทเทค

“อาทิตย์” บอกว่า SCBX ตั้งเป้าเพิ่มมาร์เก็ตแคปของบริษัทเป็น1 ล้านล้านบาท และเพิ่มฐานลูกค้าเป็น 200 ล้านราย ภายใน 5 ปี โดยภายใต้เป้าหมายนี้จะต้องขยายธุรกิจไปยังตลาดในภูมิภาค หรือเป็น regional player เพราะถ้าทำแค่ในตลาดไทยจะไม่สามารถเดินถึงเป้าหมายได้ เนื่องจากการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านการเงิน(financial) เพียงอย่างเดียวจะลดบทบาทลงเรื่อย ๆ ในอนาคต

ดังนั้น หน้าที่หลักของ SCBX ที่เป็นยานแม่ใหม่ คือ การสแกนหาธุรกิจที่มีโอกาสทั้งในและต่างประเทศ และนำเงินกองทุนส่วนเกินไปลงทุนในธุรกิจที่มีโอกาสและขยายความร่วมมือเป็นพันธมิตร (partnership) ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัท

จะทำมากขึ้น โดยจะเน้นในการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ และ ecosystem ในเทคโนโลยีบล็อกเชนทั้งหมด รวมถึงเทคโนโลยีเสมือนจริง (เมตาเวิร์ส) เป็นต้น โดยจะเป็นธุรกิจในกลุ่ม blue ocean ที่ไม่ได้เอาเงินทุนไปแข่งขันหรือตัดราคาแข่งขัน และเป็นธุรกิจที่มีกำไร (มาร์จิ้น)

“การเข้าไปร่วมลงทุน หรือ partnership ถือเป็นการเข้าสร้างความสัมพันธ์ และเข้าไปศึกษาพฤติกรรมลูกค้า และตลาด ซึ่งจะดีกว่าที่บริษัทจะเข้าไปทำเอง เนื่องจากจะแพงเกินไป ซึ่งมูลค่าการลงทุนจะขึ้นอยู่กับโอกาสการเติบโตมากน้อยระดับใด และหลังจากลงทุนจะขยายไปสู่การเป็นพันธมิตร

อย่างไรก็ดี บริษัทที่มีเทคโนโลยีที่ทำให้คนอื่นแข่งขันได้ยากจะเป็นบริษัทอันดับแรก ๆ ที่จะเข้าไปลงทุน และการขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศจะให้ความสำคัญ (priority) หลัก” นายอาทิตย์กล่าว

นับว่าดุเดือดไม่น้อยเลยทีเดียวสำหรับการที่ 2 ยักษ์แบงก์พาณิชย์ไทยต่างประกาศเป้าหมายที่จะไปเติบโตแบบ “ขนานใหญ่” ในระดับภูมิภาค ทำได้แค่ไหนให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์