จับตาซัพพลายพันธบัตรรัฐบาล 9.5 แสนล้าน กดดันบอนด์ยีลด์ไทยกระชากขึ้น

พันธบัตรออมทรัพย์

“สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” คาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อายุ 5 ปีและ 10 ปี ไตรมาส 4/64 อยู่ในเกณฑ์ไม่เปลี่ยนแปลงที่ 1.20% และ 1.95% ตามลำดับ จับตาซัพพลายพันธบัตรรัฐบาล 9.5 แสนล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565 มีผลกดดันบอนด์ยีลด์กระชากขึ้นได้

วันที่ 7 ธันวาคม 2564 นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล(บอนด์ยีลด์) อายุ 5 ปีและ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 4/2564 ปรับตัวลดลงจากครั้งก่อน แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.20% และ 1.95% เท่านั้น (ตามลำดับ) โดยมีหลายปัจจัยความไม่แน่นอนที่ตลาดต้องจับตา โดยเฉพาะตอนนี้ซัพพลายพันธบัตรรัฐบาลที่จะออกมามาก เพราะรัฐบาลไทยมีความจำเป็นต้องกู้เงิน จึงอาจมีผลทำให้บอนด์ยีลด์กระชากขึ้นได้

โดยการออกพันธบัตรรัฐบาลในปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.64-ก.ย.65) จนถึงสิ้นเดือน พ.ย.64 ออกไปแล้วเกือบ 3 แสนล้านบาท หลักๆ เป็นพันธบัตรออมทรัพย์ (Saving Bond) ซึ่งไม่มีผลต่อบอนด์ยีลด์ในตลาดเพราะกู้ยืมจากนักลงทุนรายย่อย ซึ่งนักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่ถือจนครบกำหนด แต่ตัวที่จะมีผลต่อตลาดบอนด์คือพันธบัตรเงินกู้(Loan Bond) ที่สถาบันการเงินซื้อ โดยคาดว่าจะมีการออก Loan Bond ที่เหลืออีก 9.5 แสนล้านบาท จึงต้องจับตาดูว่าช่วงจังหวะการออกจะทำให้บอนด์ยีลด์กระชากขึ้นหรือไม่

“ส่วนใหญ่จะเป็นเชิงจิตวิทยาเวลาที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ประกาศซัพพลายพันธบัตรที่จะออกมาบอนด์ยีลด์จะขยับขึ้นไปก่อน แต่เวลาที่ออกมาจริงตลาดรับรู้ข่าวไปหมดแล้วทำให้บอนดืยีลด์อาจจะปรับลดลงก็ได้” นางสาวอริยา กล่าว

ส่วนปัจจัยอื่นๆ ต้องติดตามคือทิศทางบอนด์ยีลด์ในตลาดโลก โดยเฉพาะสหรัฐเพราะมีความสัมพันธ์กับบอนด์ยีลด์ของไทย โดยเฉพาะในปีนี้รุ่นอายุ 10 ปี เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่สอดคล้องกันมาก โดยบอนด์ยีลด์สหรัฐได้รับอิทธิพลจากปัจจัยเงินเฟ้อค่อนข้างมาก ช่วงเดือน มี.ค.64 กระชากขึ้นไปใกล้ 2% ขณะที่บอนด์ยีลด์ไทยทะลุ 2%

และถัดมาช่วงเดือน ต.ค.64 เป็นอีกเดือนที่เคลื่อนไหวในทิศทางที่ปรับตัวขึ้น ซึ่งล้วนมาจากปัจจัยเงินเฟ้อสหรัฐ รวมไปถึงบวกกับความกังวลซัพพลายพันธบัตรของรัฐบาลไทย แต่ในช่วงเดือน พ.ย.64 ทิศทางบอนด์ยีลด์มีแนวโน้มลดลงจากการคลายความกังวลเงินเฟ้อ แต่ปลายเดือน พ.ย.ที่เริ่มมีความกังวลการระบาดโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ตลาดจึงเริ่มเข้าสู่โหมด Risk-off ส่งผลให้เงินทุนต่างชาติ(Fund Flow) ไหลเข้าไปตลาดบอนด์สหรัฐและตลาดบอนด์ไทยเช่นเดียวกัน