เปิดสถิติ “ช้อปดีมีคืน” ปลุกเงินสะพัด หุ้นค้าปลีกรออานิสงส์

ตอนนี้หลาย ๆ คนกำลังลุ้นกันว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 ธ.ค.นี้ ซึ่งรัฐบาลจะมีการพิจารณามาตรการ “ของขวัญปีใหม่” แพ็กเกจใหญ่ให้กับประชาชนคนไทย หลังจากต้องทนทุกข์กับโควิด-19 มาถึง 2 ปีนั้นจะออกมาเป็นอย่างไร

และที่สำคัญจะมีมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” อย่างที่มีเสียงเรียกร้องหรือไม่ โดยก่อนหน้านี้ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง ยอมรับว่ากำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่ และบอกว่าจะมีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อที่เป็นมาตรการทางภาษีที่จะออกมาแทนมาตรการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ที่จะหมดอายุสิ้นปีนี้

โดย “ณัฐชาต เมฆมาสิน” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากรัฐบาลมีการนำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ให้นำรายจ่ายจากการซื้อสินค้ามาลดหย่อนภาษีได้ หรือ “ช้อปดีมีคืน” มาใช้อีก เชื่อว่าอย่างน้อยจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าของประชาชนที่ต้องจ่ายไปในการซื้อสินค้าได้ และหุ้นกลุ่มบริโภค-ค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหารที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ถูกต้องก็จะได้ประโยชน์

ส่องกลุ่มหุ้นได้ประโยชน์

“แน่นอนกลุ่มหุ้นที่จะได้ประโยชน์ คือ หุ้นบริโภค-ค้าปลีก, ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหารที่จด VAT ถูกต้อง ดังนั้น น่าจะทำให้เซนติเมนต์ของหุ้นเหล่านี้ดีขึ้น จากเดิมที่เริ่มดีขึ้นแล้วจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลับมาสูงขึ้นต่อเนื่อง และเห็นทราฟฟิกคนออกมานอกบ้านสูงขึ้นต่อเนื่องด้วย ขณะที่ประเมินว่าการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม (SSSG) ของกลุ่มรีเทลในไตรมาส 4 นี้จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบไตรมาส 3 ที่มีการล็อกดาวน์ ดังนั้น ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นบูสเตอร์ที่เข้ามาเพิ่ม” ณัฐชาตกล่าว

กระตุ้นปีนี้ได้ผลกว่า

ส่วนกรณีหากมาตรการนี้ไม่ได้ออกมาช่วงปลายปีนี้ แต่ไปบังคับใช้ต้นปีหน้า ณัฐชาตกล่าวว่า ผลลัพธ์จะต่างกันค่อนข้างมากเพราะว่าถ้าเริ่มใช้ปลายปี 2564 จะเป็นปีภาษีปีนี้ แต่ถ้าเริ่มใช้ต้นปี 2565 จะเป็นปีภาษีปีหน้า ซึ่งมีผลในแง่ความรู้สึกว่าจ่ายเงินไปแล้วจะได้ลดหย่อนภาษีทันทีหรือต้องรอไปอีกปี

“เวลาที่ลูกค้าจ่ายเงิน ถ้าจ่ายแล้วได้สิทธิลดหย่อนภาษีทันที จะมีความต้องการอยากใช้เงินมากกว่า คิดตามหลักเชิงการตลาดง่าย ๆ คือ ยิ่งบีบคั้นช่วงเวลาในการใช้จ่าย คนจะยิ่งกระหายออกมาใช้จ่ายมากขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าให้เวลาแค่ 2 สัปดาห์แค่ในปีนี้เงินจะสะพัดแน่นอนแต่ถ้าไปเริ่มโครงการต้นปีหน้าแล้วใช้ลดหย่อนภาษีปลายปี บางคนอาจมองว่าไม่ต้องรีบร้อนเพราะระหว่างทางอาจจะมีอะไรออกมาลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมอีกก็อาจจูงใจได้น้อยกว่ามาก ทำให้มีการใช้จ่ายล่าช้า (delay spending) ออกไปได้” ณัฐชาตกล่าว

ขณะที่ “สุนทร ทองทิพย์” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการช้อปดีมีคืน เป็นบวกต่อหุ้น 2 เซ็กเตอร์หลัก คือ 1.หุ้นที่ขายสินค้าชิ้นใหญ่ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า, เสื้อผ้าบนห้าง เป็นต้น และ 2.หุ้นบัตรเครดิต โดยเฉพาะ บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) ได้ประโยชน์จากยอดรูดซื้อสินค้า

“ถ้าจะให้เม็ดเงินสะพัดจำนวนมาก รัฐบาลควรจะเริ่มใช้โครงการตั้งแต่ปลายปีนี้ เพราะถ้าเริ่มต้นปี 2565 อาจทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนลดลงได้ แต่อย่างไรก็ตามคงต้องดูอีกทีว่าจะกำหนดสินค้าที่เข้าร่วมอะไรบ้าง” สุนทรกล่าว

เปิดสถิติย้อนหลัง-เอฟเฟ็กต์ ศก.

ฟาก “ชาญชัย พันทาธนากิจ” ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า ถ้ามีการนำมาตรการช้อปดีมีคืนมาใช้อีกถือเป็นเรื่องดี และแม้ว่าถ้าเริ่มโครงการไม่ทันในช่วงปลายปีก็ยังเชื่อว่าจะกระตุ้นการบริโภคได้ แต่เอฟเฟ็กต์จะมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับภาษีที่ลดหย่อนได้ เช่น 3 หมื่นบาท, 5 หมื่นบาท เป็นต้น ขณะที่ต้องพิจารณาระยะเวลาในการเข้าร่วมโครงการด้วย ถ้ายิ่งนานโอกาสที่จะเห็นเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบก็จะมีสูง

ทั้งนี้ หากประเมินการสะพัดของเม็ดเงิน โดยพิจารณาจากสถิติย้อนหลังที่มีการใช้มาตรการช้อปดีมีคืน จะเห็นว่าในช่วงปี 2558 (ตอนนั้นใช้ชื่อมาตรการช็อปช่วยชาติ) ระยะเวลาโครงการรวมทั้งหมด 7 วัน (25-31 ธ.ค. 2558) วงเงินสะพัด 9,000 ล้านบาท จากภาษีที่ลดหย่อนได้ 15,000 บาท ต่อมาในปี 2559 ระยะเวลาโครงการรวมทั้งหมด 18 วัน (14-31 ธ.ค. 2559) วงเงินสะพัด 17,000 ล้านบาท จากภาษีลดหย่อนที่ได้ 15,000 บาท

ถัดมาในปี 2560 ระยะเวลาโครงการรวมทั้งหมด 23 วัน (11 พ.ย.-3 ธ.ค. 2560) วงเงินสะพัด 22,500 ล้านบาท จากภาษีลดหย่อนที่ได้ 15,000 บาท และในปี 2561 ระยะเวลาโครงการรวมทั้งหมด 1 เดือน (15 ธ.ค. 2561-15 ม.ค. 2562) วงเงินสะพัด 12,000 ล้านบาท จากภาษีลดหย่อนที่ได้ 15,000 บาท และเมื่อปี 2563 ระยะเวลาโครงการรวมทั้งหมด 2 เดือน 7 วัน (23 ต.ค.-31 ธ.ค. 2563) วงเงินสะพัด 111,000 ล้านบาท จากภาษีลดหย่อนที่ได้ 30,000 บาท

“ชาญชัย” ประเมินว่าหุ้นกลุ่มค้าปลีกที่มีมูลค่าต่อใบเสร็จสูงจะยิ่งได้ประโยชน์ เช่น บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) บมจ.คอมเซเว่น (COM7) บมจ.เอส พี วี ไอ (SPVI) และ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN)

คงต้องติดตามกันต่อไปว่า กระทรวงการคลังจะมีมาตรการนี้ออกมาหรือไม่ หากมีจะใช้ชื่อเดิมหรือจะเปลี่ยนชื่อ ตลอดจนเงื่อนไขโครงการจะเปลี่ยนไปหรือไม่ วงเงินที่ให้สิทธิลดหย่อนภาษีจะเป็นเท่าไหร่ ทั้งหมดนี้น่าจะมีความชัดเจนออกมาภายในอีกไม่กี่วันนี้