FETCO ส่องตลาดหุ้นไทยปีเสือ ฝ่ามรสุมโอไมครอน-ความเสี่ยงรัฐเก็บภาษี

เงินหุ้น

ท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาตั้งแต่ต้นปี 2565 ทั้งการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในหลายประเทศ เศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้นไทยจะเป็นอย่างไร

โดย “ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) มาสะท้อนภาพให้เห็นชัดเจนขึ้น

เศรษฐกิจโตฝ่า 3 ปัจจัยเสี่ยง

“ไพบูลย์” ประเมินว่าปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจน่าจะโตดีขึ้นที่ 4% หรือสูงกว่านั้น ดีกว่าปี 2564 ที่แทบไม่โตเลยโดยปัจจัยสำคัญอยู่ที่การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวกลับมาได้ 10 ล้านคน

ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นแต่ประเด็นสำคัญคือสถานการณ์ทั่วโลกต้องดีขึ้นจากการระบาดของโควิดด้วย และมีนักท่องเที่ยวกลับมาได้

“หากนักท่องเที่ยวกลับมาน้อยกว่า 10 ล้านคน เหลือแค่ 5 ล้านคนผมมองว่าเศรษฐกิจไทยก็ยังคงโต แต่โตได้น้อย ซึ่งก็ไม่ได้เลวร้าย แต่ทั้งนี้คงต้องดูเครื่องยนต์เศรษฐกิจอื่น ๆ ด้วยว่าจะมีตัวไหนเข้ามาช่วยเสริมหรือไม่”

ทั้งนี้ มีปัจจัยเสี่ยงต้องติดตาม 3 เรื่อง คือ 1.การระบาดของโอไมครอน ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่อันตราย แต่ประชากรไทยก็ฉีดวัคซีนไปได้มากแล้วจึงประเมินว่าไทยน่าจะรับมือได้

โดยอาจจะมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้ ซึ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะไม่มากเพราะคาดว่าไม่น่าจะนำไปสู่การล็อกดาวน์แบบเข้มข้นอีก เพียงแต่อาจจะมีล็อกดาวน์เป็นบางพื้นที่

“base case scenario โควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ น่าจะมีแต่คงไม่ถึงขั้นที่จะทำให้ภาพเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไป หรือกลับไปสู่ภาวะซบเซา น่าจะคงโตอยู่เพราะประเทศทั่วโลกตื่นตัวฉีดวัคซีนและบูสเตอร์

และไวรัสกลายพันธุ์ จะรุนแรงลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งหวังว่าคงมีแค่บางประเทศที่ใช้มาตรการล็อกดาวน์ แต่คงล็อกดาวน์ไม่นาน ฉะนั้น โอกาสที่ผลกระทบจะกลับไปเหมือนในรอบแรก ๆ คงน้อยมาก”

2.ความกังวลอัตราเงินเฟ้อโลกจากปัญหาซัพพลายเชน ถ้าแก้ไม่ได้อาจทำให้ดอกเบี้ยสหรัฐปรับขึ้นเร็ว ซึ่งจะส่งผลกระทบกับไทยได้โดยสะท้อนจากเศรษฐกิจโลกอาจจะโตไม่มาก

เพราะธนาคารกลางทั่วโลกต้องใช้มาตรการเข้มข้นเพื่อกดความร้อนแรงของเงินเฟ้อลง ทำให้กระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพราะเป็นประเทศส่งออกและท่องเที่ยว

“แต่สำหรับเงินเฟ้อไทยประเมินว่าไม่น่าจะสูง น่าจะอยู่ในระดับ 2-3% เป็นจุดพีกของไทยแล้ว เพราะเรายังมีกำลังการผลิตที่เหลือพอสมควร ภาคบริการยังไม่กลับมาฟื้นเต็มที่

ฉะนั้น ไม่ได้เป็นห่วงเงินเฟ้อไทย ส่วนเงินเฟ้อโลกก็ค่อย ๆ ดีขึ้น เห็นจากปัญหาซัพพลายเชนต่าง ๆ เริ่มคลี่คลายลง ราคาพลังงานดูดีขึ้นก่อนเกิดโอไมครอน โดยสายการผลิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาไม่ได้มีการล็อกดาวน์”

และ 3.ความเสี่ยงที่รัฐเก็บภาษีธุรกรรมขายหุ้น จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันซึ่งนอกเหนือการควบคุม เพราะเป็นความเสี่ยงเชิงนโยบาย

หุ้นไทยขาขึ้น-เก็งดัชนี 1,800 จุด

“ไพบูลย์” กล่าวว่า ภาพตลาดหุ้นโลกปี 2565 น่าจะยังอยู่ในขาขึ้น แต่อัพไซด์คงไม่มาก แค่ประมาณ 5% เพราะปี 2564 ปรับตัวขึ้นมากกว่า 25% จากทิศทางดอกเบี้ยโลกขาขึ้น และสภาพคล่องในตลาดค่อย ๆ ลดลงจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มลดขนาดคิวอี

และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ไม่อัดฉีดสภาพคล่องในระบบมากนัก รวมไปถึงธนาคารกลางจีนยังอยู่ในมาตรการเข้มงวด สำหรับตลาดหุ้นไทยมองว่ามีโอกาส outperform หรือปรับตัวขึ้นได้อย่างน้อย 10% โดยคาดการณ์ดัชนี SET Index สิ้นปีจะอยู่ที่ 1,800 จุด

“เนื่องจากขณะนี้หุ้นไทยยังเป็นตลาดที่ underperform ถ้ามองช่วง 2 ปีที่ผ่านมาดัชนียังปรับตัวขึ้นมาไม่มากอยู่แถว ๆ 1,600 จุด และถ้าดูจากมูลค่าหุ้น (valuation) ระดับอัตรากำไรต่อราคา (P/E) อยู่ที่ 16 เท่า

ซึ่งเป็นระดับเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง ถ้าปี 2565 ตลาดหุ้นไทยยังยืนอยู่ที่ P/E 16 เท่าได้ อัพไซด์ตลาด 10% ก็จะมาจากการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียน โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่ากำไรบจ.ปี 2565 จะเติบโตเฉลี่ย 10-15%”

เชื่อหุ้นไทยฝ่า “โอไมครอน” ได้

อย่างไรก็ตาม กรณี worst-case scenario หากมีการระบาดหนักของโอไมครอนต้องประเมินว่าจะกระทบนานแค่ไหน ซึ่งจากการระบาดรอบก่อน ๆ กระทบตลาดหุ้นไทยแค่ 1-2 วัน และนักลงทุนเชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้น

เพราะแม้แต่สายพันธุ์เดลต้าที่แม้อาจใช้เวลานาน 4-5 เดือนกว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลงได้ ซึ่งตลาดหุ้นก็ลดลงไปที่ 1,500-1,550 จุด แต่สุดท้ายก็กลับมายืนที่กว่า 1,600 จุดเหมือนเดิม

“ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตลาดหุ้นไทยพร้อมจะกลับมา และยิ่งฉีดวัคซีนเยอะ โอกาสที่ดัชนีจะดิ่งลงไม่น่าจะมี เพราะทั่วโลกฟื้นหมด อาจจะมีกลุ่มนักลงทุนระยะสั้นเทขายออกมา แต่เชื่อมั่นว่ากลุ่มนักลงทุนระยะกลาง ระยะยาวจะถือไว้”

นอกจากนี้ ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายเชื่อว่ายังไม่ปรับขึ้น หากจะขึ้นคงเป็นปลายปี ดังนั้น ตลาดหุ้นไทยจะได้อานิสงส์เพราะเป็นตลาดที่ยัง underperform และมีจุดขายเรื่องการท่องเที่ยว

“ไพบูลย์” มองว่าเซ็กเตอร์หุ้นที่คาดว่าจะ outperform ได้ดีในช่วงครึ่งปีแรก คือ หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ หากเศรษฐกิจฟื้นและประเทศรับมือโอไมครอนได้ และกลับมาเปิดประเทศเต็มรูปแบบไม่ต้องกักตัว

ตลอดจนนักท่องเที่ยวกลับมาได้ตามคาดก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีแนวโน้มดูดีขึ้น หนุนให้กลุ่มสถาบันการเงินปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย จากนั้นหุ้นกลุ่มการบริโภคและภาคบริการต่าง ๆ จะทยอยดีขึ้นตาม รวมไปถึงกลุ่มโทรคมนาคมและกลุ่มโรงพยาบาลซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน