ทิสโก้ รุกตลาด “รถมือสอง-จำนำทะเบียน” จับมือ “เกรท วอลล” เก็บค่าฟี

รถมือสอง

กลุ่มทิสโก้ เปิดกลยุทธ์ปี 65 ลุยปล่อยสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้ว-จำนำทะเบียนรถยนต์และจักรยานยนต์ ตั้งเป้าโตสินเชื่อ 4-5% พร้อมจับมือค่ายรถยนต์จีน “เกรท วอลล์ มอเตอร์” ตั้ง Captive หวังโกยรายได้ค่าธรรมเนียม

วันที่ 17 มกราคม 2565 นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปี 2565 มองภาพรวมเศรษฐกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และค่อยทยอยฟื้นตัวแบบช้าๆ โดยกลุ่มทิสโก้ยังคงเน้นการเติบโตอย่างระมัดระวัง โดยเลือกกลุ่มเติบโต ซึ่งในส่วนของสินเชื่อในปีนี้จะเน้นขยายไปในกลุ่มที่มีโอกาสเติบโตให้ผลตอบแทนที่ดี แต่มีความเสี่ยงสูง เช่น

กลุ่มสินเชื่อรายย่อย กลุ่มรถยนต์มือ 2 (Use Car) และกลุ่มจำนำทะเบียนรถยนต์และจักรยานยนต์ (Auto Cash) รถบรรทุก เนื่องจากในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้คนหันมาซื้อรถรถยนต์มือสองจำนวนมาก และราคาไม่ได้ตกลง จึงเป็นโอกาสที่ธนาคารเข้าไปในตลาดนี้ รวมถึงร่วมมือกับค่ายรถยนต์จีน เช่น เกรท วอลล์ มอเตอร์ ตั้ง Captive Finance สนับสนุนทั้งสินเชื่อและประกัน

ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ จะเน้นกลุ่มพลังงาน และอสังหารริมทรัพย์ โดยหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายเริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานทางเลือกซึ่งเป็นทิศทางที่โลกไป

และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มลงทุนในโครงการใหม่ หรือกลุ่มที่รักษาสภาพคล่อง ซึ่งยังคงใช้สินเชื่อ รวมถึงที่ปรึกษาการลงทุน และวาณิชธนกิจเข้ามาดูแล โดยทั้ง 2 เซ็กเตอร์จะเป็นพื้นที่การเติบโตของธนาคารในปีนี้

“การเติบโตสินเชื่อรถยนต์คงเห็นการเติบโตอ่อนๆ โดยในกลุ่มรถใช้แล้วและจำนำน่าจะเติบโตได้ราว 3-4% ส่วนสินเชื่อคอร์ปอเรทกลุ่มพลังงานและอสังหาริมทรัพย์หากมีโอกาสน่าจะเติบโตได้ 2 หลัก ส่วนเอสเอ็มอีเป็นเป็นเซ็กเมนต์ที่ระวังสูงอยู่

โดยรวมสินเชื่อน่าจะโตได้ 4-5% แต่การเหยียบคันเร่งน่าจะเห็นในช่วงครึ่งหลังของปีตามทิศทางเศรษฐกิจที่น่าจะดีขึ้น และการขยายสาขาลงอำเภอที่ผ่านมาเรายังทำได้แค่ครึ่งเดียว ผ่านการขยายสาขา “สมหวัง เงินสั่งได้” เพิ่มเป็น 400 แห่ง จากที่มีอำเภอ 700 แห่ง รวมถึงขยายไปในตลาดรถยนต์อีวีที่เป็นไฮบริดที่ตลาดสนใจ โดยเราจะต้องมีการคำนวณการวางดาวน์และสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ที่เหมาะสม”

สำหรับนโยบายการจ่ายเงินปันผลนั้น ในปีนี้ยังคงต้องรอดูทิศทางนโยบายของธปท.จะกำหนดอย่างไร หากธปท.ต้องการให้ดูแลลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยนโยบายอาจจะทำอย่างระมัดระวัง แต่หากสถานการณ์ลูกหนี้ที่ช่วยเหลือดีขึ้นก็คงมีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ ซึ่งในปีที่ผ่านมากลุ่มทิสโก้ยังคงมีความสามารถในการการจ่ายเงินปันตามเกณฑ์ไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิ

นายเมธา ปิงสุทธิวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารทิสโก้ กล่าวว่า ในส่วนของสินเชื่อรายย่อยการเติบโตหลักๆ จะมาจากธุรกิจเช่าซื้อ แต่ปีนี้จะเน้นเติบโตในกลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียน และรถมือ 2 โดยกลุ่มธุรกิจรายใหญเห็นโอกาสในกลุ่มสินเชื่อพลังงานและอสังหาริมทรัพย์

โดยจะเสนอโซลูชั่นครบวงจรไม่ใช่เฉพาะแค่การปล่อยสินเชื่อ แต่ยังเป็นที่ปรึกษาการลงทุน รวมถึงการสร้าง Digital Platform ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นให้ลูกค้าได้เข้ามาใช้ ทั้งซื้อและขายรถ

สำหรับการเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.รายได้ธุรกิจนายหน้าประกันชีวิตและประกันภัย ซึ่งธนาคารได้ร่วมมือกับค่ายรถยนต์ผู้ผลิต 3-4 แบรนด์ โดยรับหน้าที่เป็น Captive finance ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้จากประกันภัย รวมถึงการจับมือกับค่ายประกันไม่จำกัดค่าย หรือเป็น Branded Insurance และ 2.รายได้กลุ่มธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management)

โดยปีนี้จะเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีเงินฝากและลงทุน (AUM) ตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่ม Mass-Affluent ที่มีเงินออมและสามารถเติบโตสูง โดยธนาคารจะเสนอผลิตภัณฑ์ประกันและลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล และโมบายแบงกิ้ง My Wealth ในการบริการ

“ตอนนี้มีฐานลูกค้า 1.5 ล้านรายผ่านช่องทางดิจิทัล โดยกลุ่มลูกค้าที่เปิดบัญชีเงินฝากใช้ช่องทางดิจิทัลทำธุรกรรม 100% แต่กลุ่มลูกค้า Private Bank ไม่ค่อยได้ใช้ เนื่องจากมี RM ช่วยดูแล ส่วนกลุ่มเช่าซื้อยังใช้ไม่เยอะบางคนยังยอมจะไปจ่ายเงินผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือ 7-11 ซึ่งเราจะต้องพยายามโปรโมทการใช้ให้มากขึ้น หรือกลุ่มกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังคงใช้ไม่ถึง 20% เมื่อรวมกันแล้วมีไม่ถึง 1 ใน 4 ที่ใช้ดิจิทัล”

นายชาตรี จันทรงาม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายควบคุมการเงินและบริหารความเสี่ยง กลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในปีนี้โอกาสขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากธนาคารขยับไปในพอร์ตที่มีความเสี่ยงสูง แต่ให้ผลตอบแทนที่ดี

โดยเอ็นพีแอลปัจจุบันอยู่ที่ 2.44% หรืออยู่ที่ 4,950 ล้านบาท ซึ่งปรับลดลงจากจุดพีกในปีก่อนที่อยู่ในระดับ 3.98% โดยคาดว่าปีนี้ขยับเพิ่มแต่คงไม่ถึงจุดพีกเหมือนปีก่อน ทั้งนี้ แม้ว่าจะขยับไปเล่นพอร์ตที่มีความเสี่ยง แต่ธนาคารยังคงมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญไว้เพียงพอในอีก 12 เดือนข้างหน้า

สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้สำหรับปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 6,781 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8% จากปีก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจจัดการกองทุน กำไรจากเงินลงทุน และค่าใช้จ่ายสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่ลดลง

โดยในรายละเอียด รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยขยายตัว 9.7% จากปีก่อน สาเหตุมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจจัดการกองทุนที่เติบโต 46.2% จากการออกกองทุนใหม่ที่ได้รับการตอบรับที่ดี และการรับรู้ค่าธรรมเนียมตามผลประกอบการของกองทุน รายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.1% จากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น

ในขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ชะลอตัว 7.8% จากธุรกิจนายหน้าประกันภัย ที่ได้รับผลกระทบในช่วงเศรษฐกิจซบเซาจากการระบาดของโควิด-19 ประกอบกับค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่ออ่อนตัวลง ส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 4.9% ตามทิศทางการปล่อยสินเชื่อที่ชะลอตัว

นอกจากนี้ บริษัทมีผลกำไรจากมูลค่าเงินลงทุนที่ตีมูลค่ายุติธรรมผ่านงบกำไรขาดทุน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ในขณะเดียวกัน ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss – ECL) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 1.0% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย จากการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับสถานการณ์การระบาดที่เริ่มคลี่คลาย แม้ว่าจะมีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในช่วงสิ้นปี ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) อยู่ที่ 16.8%

สำหรับเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีจำนวน 202,950 ล้านบาท ลดลง 9.7% จากสิ้นปีก่อนหน้า เนื่องมาจากบริษัทดำเนินนโยบายการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังในภาวะที่เศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอนสูงจากการระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงบริหารจัดการสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPLs) ลดลงจากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 2.4% ซึ่งอยู่ในระดับที่ดีกว่าความคาดหมาย ทั้งนี้ บริษัทยังคงมีระดับเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Loan Loss Coverage Ratio) อยู่ในระดับสูงที่ 236.7%

ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 25.2% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 20.2% และ 5.0% ตามลำดับ