เงินบาทแข็งค่า ตลาดจับาตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 32.63/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (6/12) ที่ระดับ 32.62/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 190,000 ตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 185,000 ตำแหน่ง แต่ต่ำกว่าระดับ 235,000 ตำแหน่งในเดือนตุลาคม นักวิเคราะห์ระบุว่า การจ้างงานเพิ่มขึ้นในวงกว้างทุกภาคอุตสาหกรรม และบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่ง ทั้งนี้ ภาคบริการมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 155,000 ตำแหน่ง ในขณะที่ภาคการผลิตมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 35,000 ตำแหน่ง ในขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผย ประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.0% ในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2557 หลังจากที่เพิ่มขึ้น 1.5% ในไตรมาสที่ 2 นอกจากนี้ ทางคณะกรรมาธิการธนาคารประจำคุณวุฒิสภาสหรัฐได้มีการอนุมัติให้นายจาโรม พาวเวล เข้ารับดำรงตำแหน่งประธานเฟดอย่างเป็นทางการ โดยนักลงทุนมองว่าการเปลี่ยนแปลงประธานเฟดนั้น ไม่น่าที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินเพราะว่านายพาวเวลมีแนวความคิดคล้ายกับนางเยลเลน ประธานเฟดคนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งทั้งคู่เห็นด้วยว่าควรจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยไปค่อยเป็น

ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศนั้น ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพฤศจิกายน 2560 อยู่ที่ 78.0 จาก 76.7 ในเดือนตุลาคม 2560 โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 33 เดือน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 65.2 จาก 64.1 ในเดือน ต.ค. 60 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 72.7 จาก 71.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 96.1 จาก 94.4 สำหรับปัจจัยบวกที่ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่านั้น ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เผยตัวเลขอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในไตรมาส 3/60 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส สภาพัฒน์ ปรับ GDP ปี 60 เป็น 3.9% จากเดิม 3.7% รัฐบาลออกมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการบริโภค (ช็อปช่วยชาติ) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการส่งออกในเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้น 13% ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 32.605-32.64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.62/32.63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (07.12) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1797/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (06.12) ที่ระดับ 1.1829/33 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรยังคงถูกกดดันหลังจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการเจรจา Brexit ระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป (EU) หลังนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ของอังกฤษ และนายฌอง-คล็อต ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการผลักดันการเจรจา Brexit ให้เดินหน้าสู่ขั้นตอนที่สองได้ นอกจากนี้ สหภาพยุโรป (EU) ได้ออกมาแสดงความกังวลหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการให้กรุงเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 11787-1.1804 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1793/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (07/12) เปิดตลาดที่ระดับ 112.42/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (06/12) ที่ระดับ 112.06/112.09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลง ในขณะที่นักลงทุนกำลังจับตาดูความคืบหน้าการปฏิรูปนโยบายภาษีของทรัมป์ และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์นี้ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 112.26-112.67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 112.65/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงาน (07/12) ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (08/12) อัตราการว่างงาน (8/12)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.25/-2.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.0/-2.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ