เหลียวหลังแลหน้า “ธีรนันท์” อดีตนายแบงก์สู่มือโปรปรับองค์กร

ธีรนันท์ ศรีหงส์

กว่า 9 เดือนที่ลุกจากเก้าอี้นายแบงก์ 1 ใน 4 ขุนพลของค่ายแบงก์สีเขียว “ธีรนันท์ ศรีหงส์” อดีตกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG โดยช่วงที่ผ่านมา ก็ได้ใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมจากการเป็นนายแบงก์ที่คลุกคลีมานานกว่า 28 ปี มาทำธุรกิจของตัวเอง ด้วยการจัดตั้งบริษัท “CELAR Consulting” รับเป็นที่ปรึกษาในการวางยุทธศาสตร์ให้กับองค์กรต่าง ๆ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้พูดคุยมานำเสนอ

“ธีรนันท์” ฉายภาพว่า ส่วนใหญ่จะเป็นการให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าที่รู้จักกันมาอยู่แล้วรวมถึงเพื่อนแนะนำต่อกันมาด้วย โดยเขา (ลูกค้า) จะขอให้มาช่วยให้มุมมองและไอเดียในการทรานส์ฟอร์มองค์กรอย่างไร ให้รับกับดิจิทัล หรือที่เรียกกันว่า digital transformation

“ผมวาง position ตัวเอง เป็นเหมือนเพื่อนของ CEO (ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร) เข้ามาช่วยกันคิดว่า องค์กรเขาควรจะ transform ตัวเองเข้าสู่โลกในอนาคตอย่างไร จะใช้ digital technology เป็น driver (ตัวขับเคลื่อน) ได้อย่างไร องค์กรเขาขาดอะไรบ้าง นี่คืองานของ CELAR Consulting”

งานอีกด้านที่เขาตั้งใจเข้ามาช่วยทำ จะเป็นงานภาครัฐที่ต้องการคนนอกเข้ามาทำด้วย ซึ่งขณะนี้เขาเป็นประธานของชุดคณะกรรมการกํากับสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลกรรมการของดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กรรมการในชุดคณะกรรมการปฏิรูปตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 และรองประธาน สมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย TMA ส่วนงานฝั่งภาคเอกชน เขานั่งเป็นกรรมการบริหารของ บมจ.ธนชาตประกันภัย

งานอีกด้านที่ยังอยู่ในแวดวงการเงิน คือการเข้าไปช่วยดูแล private equity ของกลุ่มลูกค้าที่เป็นธุรกิจครอบครัว ซึ่งจะมีทั้งการให้คำปรึกษาการลงทุน การบริหารการเงินนอกตลาด การดูแลโครงสร้างการบริหารธุรกิจ

Advertisment

“พอออกมาทำงานนอกแบงก์ สิ่งที่ได้คือ “ความอิสระ” เพราะถ้าสวมหมวกที่อยู่ใต้แบงก์ จะพูดหรือคิดทำอะไร จะต้องมีความระมัดระวังมากกว่า แต่ผมออกมาอยู่นอกแบงก์ อยู่นอกองค์กรใหญ่ ผมสามารถนำประสบการณ์ที่ได้จากองค์กรใหญ่ที่สร้างเรามา หรือสอนเรามาหลาย ๆ อย่าง ผมก็สามารถสร้างอิมแพ็กต์ได้มากกว่า ผมก็เอามาใช้กับลูกค้าได้ มันมี scale up (เพิ่ม) ให้ได้มากกว่า วันนี้ผมสามารถพูดกับลูกค้าได้อย่างมีอิสระในความคิด ผมรู้สึกว่าแบบนี้น่าจะเป็นคุณมากกว่า”

เมื่อให้เขามองย้อนกลับไปในธุรกิจแบงก์ช่วงปีนี้ ในฐานะคนนอกวงการแบงก์ ก็ฉายภาพให้ฟังว่า “ภาพแบงก์” ทุกวันนี้ ยังถือเป็นแบรนด์ที่แข็งแรงมาก ขณะเดียวกันแบงก์ไทยก็ยังแข่งขันดูแลลูกค้ากันอยู่ ซึ่งโมเดลแบงก์ไทยก็ยังเป็นสถาบันการเงินหลักที่การทำธุรกรรมการเงินทุกอย่างจะเกิดขึ้นกับเขา (แบงก์) ดังนั้นแบงก์ไทยก็ยังคอนโทรล (คุม) เกือบทั้งหมด อีกทั้งด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ให้บริการก็ค่อนข้างครอบคลุม ดังนั้นลูกค้าจะไปไหนก็ยาก ฐานลูกค้าแบงก์จึงยังมีความแข็งแกร่งอยู่ในมือเขา เพราะความที่แบงก์มีทรัพยากรเยอะ มีกำลังคนและไอทีเยอะ ทำให้แบงก์ยังเป็นลีดเดอร์อยู่

แต่ทว่า ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไปรวดเร็ว ยิ่งมีฟินเทคสตาร์ตอัพหรืออื่น ๆ เข้ามา ทำให้ไม่มีใครรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ดังนั้นสิ่งที่แบงก์จำเป็นต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ต้องมีคุณลักษณะ 3 ด้านที่จำเป็น แต่ว่าแบงก์ “ขาดหมด” คือ ด้านแรก แบงก์มักรับรู้การเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่อยู่ข้างนอกช้า เพราะนึกถึงตัวเองเป็นหลัก ต่างกับสตาร์ตอัพ ที่มีโฟกัสมีการรับรู้ได้รวดเร็ว สอง แบงก์มักคิดหรือตัดสินใจเองจากการวิเคราะห์ข้างในซึ่งมีขั้นตอน จะต้องคำนึงความเสี่ยงต่าง ๆ มาก ในขณะที่สตาร์ตอัพ จะมองจากข้างนอกและได้รับข้อมูลที่จะตรงกับประเด็นมากกว่าที่แบงก์เป็น และด้านที่ 3 แบงก์ขาดการลงมือทำอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ทำให้การตัดใจทำช้าลง ในขณะที่สตาร์ตอัพตัดสินใจเร็ว และลงมือทำได้เร็ว

“ปัญหาของแบงก์คือ คือ ไม่ได้ถูกเซตให้เกิด agility (ความคล่องตัว) คือรับรู้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการตัดสินใจจะต้องอยู่บนข้อมูลที่ครบถ้วน ต้องผ่านการคิดแล้วคิดอีกของหลายฝ่ายที่เกี่ยว เหล่านี้เป็นความท้าทายของแบงก์”

Advertisment

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นแบงก์หรือองค์กรใหญ่ ๆ ยังคงเจอกับ digital disruption ดังนั้น สิ่งที่ยังต้องปรับตัวมี 3-4 องค์ประกอบ คือ 1.มีความสามารถในการสร้างกลยุทธ์ที่คมชัด ขณะเดียวกันก็ต้องปรับเปลี่ยนไปได้ตามสถานการณ์ 2.รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว 3.มีความสามารถในการสังเคราะห์ว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่ต้องโฟกัสและทำ และมีความสามารถในการตัดสินใจ (make decision) และความสามารถในการทำอย่างรวดเร็ว เพราะต่อไป โจทย์ของธุรกิจจริง ๆ คือ เรากำลังสู้กับกลุ่มที่เรียกว่า large tech company เช่น facebook, google, Alibaba, jd.com

“คำถามคือ แบงก์จะป้องกันตัวเอง ต่อ Alibaba ได้หรือไม่ ? ผมพูดจากความรู้สึกตัวเองพอออกมาข้างนอกแล้ว เราเห็นสปีดของข้างนอกเร็ว ผมมองกลับไปก็ตกใจและเป็นห่วงว่าสปีดที่แบงก์ทำกัน มันยังไม่ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลง แบงก์ต้องทำเยอะกว่านี้

แต่อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าไม่ได้จะบอกว่าแบงก์จะแย่ เพราะธุรกิจบริการทางการเงินในทวีปเอเชีย winner ก็จะยังเป็นแบงก์อยู่