บัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ คลังเปิดลงทะเบียนไตรมาส 3/2565

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

คลังเตรียมเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐช่วงไตรมาส 3 ของปี 2565 คาดคนผ่านเกณฑ์ 17 ล้านคน ใช้งบ 6 หมื่นล้านบาท ส่วนผู้ถือบัตรรายเดิมยังใช้ได้อยู่จนกว่าจะคัดกรองคุณสมบัติแล้วเสร็จ พร้อมเปิดรายละเอียดคุณสมบัติ 8 ข้อ

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 โดยคาดว่าจะเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่และคัดกรองคุณสมบัติให้แล้วเสร็จได้ช่วงไตรมาส 3 ของปี 2565 และจะเริ่มต้นใช้จ่ายได้ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2565 ตั้งกรอบสมมติฐานประชาชนเข้ามาลงทะเบียน 20 ล้านคน และคาดว่าจะผ่านเกณฑ์การคัดกรอง 17 ล้านคน ขอในกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จำนวน 60,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ การเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ เป็นการอัพเดตฐานข้อมูล ซึ่งใช้มานานแล้วกว่า 5 ปี ตั้งแต่ปี 2560 ขณะนั้นมีผู้เข้ามาลงทะเบียน 18 ล้านคน ผ่านเกณฑ์ 14.6 ล้านคน และปัจจุบันเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการ จำนวน 13.45 ล้านคน พร้อมกันนี้ ในช่วงที่สถานการณ์โควิดส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชน จึงอาจทำให้มีประชาชนเข้ามาสู่ระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม และเพิ่มความถูกต้องในการระบุตัวตนผู้มีรายได้น้อยได้อย่างแท้จริง ตรงตามเป้าหมาย จึงได้มีการเปิดลงทะเบียนอีกรอบ

“ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังสามารถใช้สิทธิในบัตรดังกล่าวได้จนกว่าจะมีการคัดกรองคุณสมบัติผู้ผ่านเกณฑ์การลงทะเบียนรอบใหม่แล้วเสร็จ ซึ่งจะมีการออกประกาศยกเลิกการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐใบเดิมออกมาอีกครั้ง โดยการเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบนี้ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรายเดิมจะต้องเข้ามาลงทะเบียนด้วย และในอนาคตจะมีการทบทวนฐานข้อมูลผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทุก ๆ 1 ปี และใช้จ่ายบัตรสวัสดิการผ่านบัตรประชาชน”

ทั้งนี้ รายละเอียดการดำเนินโครงการฯต่าง ๆ คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้คณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมเป็นผู้กำหนด ซึ่งจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป

สำหรับการเปิดลงทะเบียนครั้งนี้จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนและครอบครัวของผู้ลงทะเบียนด้วย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

คุณสมบัติผู้ลงทะเบียน

1 ) มีสัญชาติไทย

2) มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป

3) ไม่เป็นบุคคลดังต่อไปนี้ ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช ผู้ต้องขัง ผู้ถูกกักกัน ผู้ต้องกักขัง บุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ฯ ข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ ผู้รับบำเหน็จรายเดือน ผู้รับบำนาญปกติ หรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา

4) รายได้ของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง และหากมีครอบครัว รายได้เฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง (การคำนวณรายได้เฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนคำนวณได้จากการรวมรายได้ของผู้ลงทะเบียน และสมาชิกในครอบครัวของผู้ลงทะเบียน หารด้วยจำนวนบุคคลทั้งหมดในครอบครัว)

5) ทรัพย์สินทางการเงินได้แก่ เงินฝาก สลาก พันธบัตรและตราสารหนี้ภาครัฐ ของผู้ลงทะเบียนต้องมีมูลค่าไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง และหากมีครอบครัว ทรัพย์สินทางการเงินเฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนมีมูลค่าไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง (การคำนวณทรัพย์สินทางการเงินเฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนคำนวณได้จากการรวมมูลค่าทรัพย์สินทางการเงินของผู้ลงทะเบียน และสมาชิกในครอบครัวของผู้ลงทะเบียน หารด้วยจำนวนบุคคลทั้งหมดในครอบครัว)

6) อสังหาริมทรัพย์ ไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

6.1) กรณีผู้ลงทะเบียนไม่มีครอบครัว

1) ที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน)

1.1) กรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว
– บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถว ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา
– ห้องชุดต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร

1.2) กรณีเป็นที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรจะต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่

2) ที่ดินแยกจากที่อยู่อาศัย

2.1 ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่

2.2 ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตร ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่

6.2) กรณีผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว

1) ที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน)

1.1) กรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว

1.1.1) กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของที่ดิน ที่มีลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถวแยกจากกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินของลงทะเบียนและคู่สมรสแต่ละคนต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา

กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของที่ดินที่มีลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถวร่วมกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสรวมกันต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา

1.1.2) กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของห้องชุดแยกจากกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสแต่ละคนต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร

กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของห้องชุดร่วมกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสรวมกันต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร

1.2) กรณีเป็นที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่ หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรจะต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 2 ไร่

2) ที่ดินแยกจากที่อยู่อาศัย

2.1) ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 2 ไร่

2.2) ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่

7) ผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่มีบัตรเครดิต ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง

8) ผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่มีวงเงินกู้ หรือมีวงเงินกู้ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ไม่เกินหลักเกณฑ์ ดังนี้
– วงเงินกู้สำหรับที่อยู่อาศัยรวมไม่เกิน 1.5 ล้านบาท
– วงเงินกู้สำหรับยานพาหนะรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท