กลยุทธ์น่านน้ำ กับการตลาดยุคใหม่

เงินบาท
คอลัมน์ : Smart SMEs
ผู้เขียน : ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

สิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจแต่ละภาคอุตสาหกรรมเผชิญอยู่ขณะนี้คือ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมดิจิทัล ทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคที่รวดเร็ว

และตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตในปัจจุบัน กลยุทธ์น่านน้ำ (ocean strategy) หรืออีกนัยหนึ่งคือ ตลาดใหญ่บนโลกธุรกิจ เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่ได้รับความนิยมเพื่อใช้วางแผนธุรกิจได้ในระยะยาว

หลายท่านอาจเคยได้ยินคำว่า blue ocean หรือ red ocean หรือ green ocean กันมาบ้างแล้ว แต่ใน สถานการณ์ปัจจุบัน purple ocean เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ถูกนำมาปรับใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

ธุรกิจของท่านจะอยู่ในน่านน้ำแบบใด จะนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้กับการวางแผนธุรกิจเพื่อเชื่อมกับการตลาดยุคใหม่ได้อย่างไร ไปติดตามกันค่ะ

การเริ่มต้นธุรกิจในตลาดเดิมที่มีกลุ่มผู้บริโภคสูงย่อมมีคู่แข่งที่เข้ามาทำธุรกิจคล้าย ๆ กันเป็นจำนวนมาก และเกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจนกลายเป็นกลยุทธ์น่านน้ำสีแดง (red ocean strategy) การแข่งขันในตลาด mass market

ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือใช้กลยุทธ์ด้านการตัดราคาอาจไม่ได้ผล การดึงธุรกิจให้ไปสู่กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม (blue ocean strategy) ที่เป็น niche market คือการสร้างตลาดใหม่แทนตลาดเดิม

แทนที่จะขายกับกลุ่มลูกค้าเดิม ๆ ท่านต้องหาจุดขายที่แตกต่าง ผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน เพื่อทำให้เกิดความต้องการของผู้บริโภคใหม่ เพื่อให้เกิดการซื้อซ้ำ และชิงความได้เปรียบจากการเข้าสู่ตลาดก่อนคู่แข่งขัน มีการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ เช่น plant-based food เป็นต้น

การทำตลาดยุคใหม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือทำการตลาดออนไลน์ (digital marketing tools) เช่น แพลตฟอร์มโซเชียลคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย รวมถึงการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีการตลาด (MarTech)

เช่น การรับฟังเสียงจากผู้บริโภค (social listening) และการวิเคราะห์ข้อมูล (data analytic) มาประยุกต์ใช้งานร่วมกันเพื่อเร่งประสิทธิภาพการบริหารจัดการการตลาดและช่องทางการขายให้บรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น

การแข่งขันการตลาดบนน่านน้ำสีเขียว (green ocean strategy) โดยวางกลยุทธ์ให้แบรนด์มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยผลิตสินค้าให้มีคุณภาพดีขึ้นมีความปลอดภัยมากขึ้น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

และขายสินค้าในราคาที่จับต้องได้เพื่อให้ผู้บริโภคมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้น เช่น การใช้พลังงานสะอาด การลดภาวะเรือนกระจก การใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิต เป็นต้น

การใช้กลยุทธ์นี้แสดงให้เห็นถึงการตัดสินใจของผู้นำองค์กรที่สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของธุรกิจที่ไม่ใช่อยู่ในรูปของผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจและสะท้อนบทบาทความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสังคม หรือแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ที่เรียกว่า ESG (environment, social และ governance)

กลยุทธ์น่านน้ำสีม่วง (purple ocean strategy) เกิดจากการรวมตัวของน่านน้ำสีครามและน่านน้ำสีแดง เป็นกลยุทธ์ที่องค์กรนำมาใช้ในการเข้าสู่ตลาดใหม่ เพื่อผลิตสินค้าหรือบริการใหม่ เสริมความพร้อมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อชูความโดดเด่น

สร้างความแตกต่างและสร้างโอกาสทางธุรกิจ มีการวางแผนการตลาดแบบครอบคลุมทุกมิติทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อต่อยอดและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าเป็นสำคัญแบบไร้รอยต่อใน 6 ด้าน

คือ 1.เสริมศักยภาพและให้ความสำคัญกับบุคลากร 2.หาความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อต่อยอดธุรกิจ 3.ลูกค้าคือคนสำคัญ สร้างความพึงพอใจและประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า

4.การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ 5.ขยายโอกาสทางธุรกิจในตลาดต่างประเทศ 6.ขยายช่องทางการตลาดเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน

การวางแผนกลยุทธ์การตลาดก่อนเริ่มต้นทำธุรกิจ จะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจได้เปรียบในการเลือกตลาดที่จะทำธุรกิจ การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องปฏิบัติตามแผนและมีการทบทวนแผนการตลาดอย่างสม่ำเสมอ

ซึ่งจะช่วยให้ทราบว่าผลการดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ เพื่อจะได้ปรับแผนให้สอดคล้องและเหมาะสมเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ต่อไป