ผู้บริหารขวัญใจนักลงทุน (2)

คอลัมน์ จัตุรัสนักลงทุน
โดย ภาคภูมิ ศิริหงษ์ทอง

ผู้บริหารที่สามารถเป็น “ขวัญใจ” ของนักลงทุนได้นอกจากจะต้องมีกลยุทธ์การเติบโตที่ยั่งยืนแล้ว ยังต้องมีทัศนคติ และแนวคิดที่เหมาะสม ถึงจะทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ในบทความตอนแรกผมได้เขียนไว้ว่าผู้บริหารที่ดีควรจะต้อง 1) เติบโตอย่างมีวิสัยทัศน์ 2) รักษาสมดุลระหว่างกำไรระยะสั้น และแผนการเติบโตในระยะยาว และ 3) มองที่กำไรต่อหุ้น ไม่ใช่ยอดขายหรือกำไรสุทธิ

บทความนี้ผมจะพูดถึงคุณสมบัติของผู้บริหารอีก 3 ข้อที่เหลือที่สำคัญไม่แพ้กับ 3 ข้อแรกเลย

4) มองนักลงทุนรายย่อยเป็น “หุ้นส่วนธุรกิจ” ผู้บริหารที่ใส่ใจนักลงทุนรายย่อย จะมีโครงสร้างและรูปแบบการบริหารงานที่ชัดเจน เท่าเทียมกัน ถ้ามีบริษัทลูกก็จะให้บริษัทแม่ถือหุ้น 100% ไม่ใช่เอาบริษัทของกลุ่มที่เกี่ยวข้องมาถือด้วย และก็จะไม่มีดีลแปลก ๆ เช่น การออก Private Placement ที่ราคาต่ำกว่าราคาตลาดมาก ๆ เอาเงินของบริษัทไปให้บริษัทของกลุ่มผู้บริหารกู้ยืม หรือนำเงินไปซื้อกิจการของผู้ถือหุ้นใหญ่ในราคาแพง ๆ

ผมเคยไปประชุมผู้ถือหุ้นแล้วเคยเจอผู้บริหารท่านหนึ่งกล่าวว่า “ถ้าไม่ชอบสไตล์การทำงานของผม ก็ขายหุ้นทิ้งไป” ถึงแม้ว่าผมจะเข้าใจอุปนิสัยในการทำงานของผู้บริหารท่านนี้ แต่ก็อดนึกไม่ได้ว่าทำไมผู้บริหารท่านนี้ถึงขาดความเข้าใจในตลาดทุนถึงเพียงนี้ ถ้าท่านพยายามเอาใจใส่นักลงทุนรายย่อย ทำในสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ต่อบริษัทและผู้ถือหุ้นรายย่อย สุดท้ายแล้วนักลงทุนก็จะให้ “มูลค่า” ของบริษัทที่สูงขึ้น ความมั่งคั่งของเจ้าของและโอกาสในการลงทุนใหม่ ๆ ก็มากขึ้น

5) สื่อสารกับนักลงทุนอย่างตรงไปตรงมา ในการตัดสินใจลงทุนในหุ้นซักหนึ่งตัว นักลงทุนต้องพึ่งพาข้อมูลจากผู้บริหารในการตัดสินใจอย่างมาก แต่หลายบริษัทนำเสนอข้อมูลในด้านบวกเพียงด้านเดียว ไม่ได้พูดถึงความเสี่ยงที่ธุรกิจกำลังประสบอยู่ ทำให้นักลงทุนวิเคราะห์ผิดพลาด ยิ่งถ้าผู้บริหาร “บริหารความคาดหวัง” ไม่เป็น เวลาเริ่มมีปัญหา ยอดขายหรือผลกำไรมีแนวโน้มที่จะไม่ได้เป็นอย่างที่เคยพูดไว้ แต่ผู้บริหารก็ยังให้ภาพแบบโลกสวย พองบการเงินออกมานักลงทุนก็เกิดอาการ “เงิบ” เจ็บตัวกันไประนาว

ถ้าผลประกอบการออกมาไม่ดี ทำไม่ได้ตามเป้า ก็ควรชี้แจงเหตุผลตามจริง บางบริษัทถ้าตอนกำไรดีก็จะบอกว่าเป็นเพราะความสามารถของผู้บริหาร แต่ถ้ากำไรแย่ก็จะบอกว่าเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี บริษัทที่สื่อสารกับผู้ถือหุ้นแบบตรงไปตรงมาหาได้ค่อนข้างยาก แต่ถ้าเจอก็ถือว่าเป็นสุดยอดผู้บริหารที่เราอาจจะฝากอนาคตไว้ได้

6) พัฒนาตัวเองตลอดเวลา ผู้บริหารที่มีความสามารถต้องรู้ว่าตอนนี้โลกมันเปลี่ยนไปเร็วแค่ไหน ควรจะเข้าใจภัยคุกคามหรือ Threat ของธุรกิจและอุตสาหกรรม เช่น บริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ก็ต้องเริ่มคิดแล้วว่าการเข้ามาแทนที่ของรถไฟฟ้าจะส่งผลต่อธุรกิจของบริษัทอย่างไร ธนาคารและสถาบันการเงินตอนนี้ก็ต้องศึกษาผลกระทบของ FinTech และ Blockchain อาจจะเป็นทั้งโอกาสและภัยคุกคามของธุรกิจ แต่จากประสบการณ์ผมว่ามีผู้บริหารจำนวนมากยัง “ไม่ทันโลก” ยังคงยึดติดกับแนวทางการทำธุรกิจแบบเดิม ๆ ยึดติดกับความสำเร็จของผู้บริหารยุคบุกเบิก ถ้าผู้ถือหุ้นเจอผู้บริหารแบบนี้ก็ต้องระวัง เพราะธุรกิจอาจจะถูก “Disrupted” แล้วหายสาบสูญไปอย่างไม่รู้ตัว

ผมหวังว่าหลักการทั้ง 6 ข้อนี้จะช่วยให้นักลงทุนคัดเลือกผู้บริหารที่มีทั้งความสามารถและทัศนคติที่ถูกต้อง ที่จะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องมองที่ “ผลลัพธ์” มากกว่า “คำพูด” หลายครั้งที่ผมเจอผู้บริหารที่พรีเซนต์เก่ง ทำให้นักลงทุนแห่กันเข้าไปซื้อจนทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่พอผลประกอบการออกมาก็ “ดอย” กันทุกคน ในทางกลับกัน ผู้บริหารบางคนพูดไม่ค่อยเก่ง พรีเซนต์ได้น่าเบื่อ แต่ผลประกอบการออกมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งทุกไตรมาส หุ้นแบบนี้มักจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าแบบแรกอย่างเห็นได้ชัด

แต่นักลงทุนก็ต้องตระหนักว่าผู้บริหารไม่ใช่สิ่งสำคัญเพียงอย่างเดียว ถ้าเราใช้ผู้บริหารชั้นยอดไปบริหารธุรกิจชั้นแย่

สุดท้ายแล้วก็จะพังกันหมด สิ่งสำคัญไม่แพ้ผู้บริหารก็คือ โมเดลธุรกิจ ความสามารถทางการแข่งขัน ภาพอุตสาหกรรม และที่สำคัญมาก ๆ คือการประเมินมูลค่าของกิจการ ถ้าเราสามารถวิเคราะห์สิ่งเหล่านี้ได้ครบถ้วน เราก็จะสามารถมองหาโอกาสทองในการลงทุนก่อนคนอื่นได้แน่นอน

 

คลิกอ่าน >> ผู้บริหารขวัญใจนักลงทุน (1)