กรุงศรีฯ แนะกลยุทธ์ 3 Re ปรับตัวสู่สนามธุรกิจหลังโควิด

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เผยโลกหลังโควิด-19 ไม่เหมือนเดิม เผชิญการเปลี่ยนแปลงสู่ “The great reset” ชู 3 Re “Reimagine-Reflect-Reset” ปรับตัวเข้าสู่สนามธุรกิจ

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวภายในสัมมนาออนไลน์ “Krungsri Business Forum 2022 : What’s Next for Thailand ?” ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก

แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้หลายเทรนด์ในโลกธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องการค้าการลงทุนระดับภูมิภาค การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของดิจิทัล และการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นความท้าทายที่ธุรกิจต้องเร่งปรับตัวตามให้ทัน

ลุยเชื่อมธุรกิจในอาเซียนต่อยอดการเติบโต

สำหรับธนาคารจากการประกาศพันธกิจในการเป็นสถาบันการเงินไทยที่เป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า พร้อมเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน เราได้ประสานความร่วมมือกับ MUFG และทำงานร่วมกับธนาคารพันธมิตรเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ทำให้กรุงศรีฯมีเครือข่ายธนาคารพันธมิตรครอบคลุมบริการและพื้นที่มากที่สุดในภูมิภาค

นอกจากนั้นเรายังเดินหน้าลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเงินเพื่อทำให้การทำธุรกรรมข้ามประเทศสะดวกสบาย รวดเร็ว และทำได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain และ API ซึ่งไม่เพียงช่วยยกระดับประสบการณ์ด้านบริการของผู้ใช้งาน แต่ยังตอกย้ำความเป็นผู้นำของกรุงศรีฯด้านเทคโนโลยีการเงินการธนาคารในอาเซียน ซึ่งทำให้กรุงศรีฯมีความพร้อมในการช่วยผลักดันการเติบโตของลูกค้าธุรกิจในอนาคต

Advertisment

ด้านการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน เป็นอีกความแข็งแกร่งที่กรุงศรีฯสามารถครองความเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดด้วยส่วนแบ่ง 29% และเรายังคงพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อการดำเนินธุรกิจด้าน ESG อย่างต่อเนื่อง ด้วยความมุ่งมั่นในการส่งเสริมการเติบโตในก้าวต่อไปของธุรกิจที่มีปัจจัยเรื่องความยั่งยืนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค

“โดยมีการคาดการณ์อัตราการเติบโตของภูมิภาคอาเซียนเป็นอันดัน 3 รองจากอินเดียและจีน ซึ่งมีประชากรมากกว่า 660 ล้านคน และมีมูลค่าการบริโภคสูงกว่า 70% ภายในปี 2573 และมีเม็ดเงินไหลเข้ากองทุนทางด้าน ESG มากกว่า 6.49 แสนล้านดอลลาร์”

5 เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก

นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานกลุ่มสนับสนุนธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวบรรยายในหัวข้อ “The NEXT Wave of FinTech” ว่า คำว่า Digital Disruption เข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกอย่างทั้งเรื่องงาน การเงิน และชีวิตประจำวัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีทั้งโอกาสและอุปสรรค โดยมีเทคโนโลยีเกิดขึ้นมากมาย

Advertisment

อาทิ 1.เทคโนโลยีพิสูจน์ยืนยันตัวตน (Biometrics) ที่ธนาคารนำมาใช้ยืนยันตัวตนการเปิดบัญชี หรืออื่น ๆ 2.ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่นำมาช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า หรือ AIML นำมาพัฒนาในการช่วยเรื่องการเติมเงินสดเข้าเครื่องเอทีเอ็มแต่ละจุดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะจากเดิมหากมีการเติมเงินสดเยอะเกินไปก็เป็นต้นทุนให้ธนาคาร แต่ถ้าเติมเงินน้อยเกินไปลูกค้าอาจจะไม่พอใจได้

3.Open API ที่มีการเชื่อมโยงต่อพันธมิตร (Partnership) และทำให้การทำธุรกรรมง่ายและสะดวกมากขึ้นผ่าน 3 ช่องทาง ทั้งออนไลน์ เอทีเอ็ม และสาขาธนาคาร ส่วน 4.Blockchain เทคโนโลยีการเก็บข้อมูล และก่อให้เกิดเทคโนโลยีอีกมากมาย เช่น คริปโตเคอร์เรนซี 5.Metaverse หรือโลกเสมือนจริงที่ถูกสร้างขึ้นมา และมีหลายธุรกิจนำไปใช้ในธุรกิจ

กรุงศรีฯเล็งออก “SME Debt Crowdfunding”

นายสยามกล่าวอีกว่า สำหรับเทคโนโลยีที่ประเทศไทยจะโฟกัสและกำลังเกิดขึ้นมีอยู่ 3 เทคโนโลยี ได้แก่ 1.SME Debt Crowdfunding เป็นการนำผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาเจอกับนักลงทุน โดยในอดีตธนาคารจะต้องระดมทุนผ่านนักลงทุน เพื่อนำเงินทุนไปปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้ได้ดอกเบี้ย

แต่ระบบนี้จะช่วยให้เอสเอ็มอีมาเจอกับนักลงทุนโดยตรง เพื่อให้เอสเอ็มอีมีทางเลือกในการระดมทุน ไม่จำเป็นต้องใช้เฉพาะสินเชื่อจากธนาคาร และนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนตามความเสี่ยง และช่วยกระจายพอร์ตการลงทุน โดยบริษัทหลักทรัพย์กรุงศรีฯ จะออก SME Debt Crowdfunding เป็นตัวแรก โดยที่ธนาคารกรุงศรีฯจะเข้าไปช่วยค้ำประกัน

2.CBDC หรือ Retail Central Bank Digital Currency ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ที่ถูกพัฒนาโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

และ 3.Smart Finance & Payment Infrastructure for Business ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ กระทรวงการคลัง ธปท.และธนาคาร เป็นการปฏิรูปการชำระเงินภาคธุรกิจไปสู่ดิจิทัล ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ 1.การค้าและการชำระเงินซึ่งจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ทั้งการออก Invoice, Credit Note หรือการชำระบิลต่าง ๆ จะถูกบันทึกในรูปแบบดิจิทัล

และ 2.Digital Supply Finance เป็นการนำข้อมูลของคู่ค้าไปอยู่บนดิจิทัล เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กที่ไม่มีหลักประกันและต้องการสภาพคล่องมาอยู่บนแพลตฟอร์ม เพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อได้ดีขึ้น

“ดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งการเงิน ธุรกิจ เราจึงต้องมีการปรับตัวรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรในการขยายธุรกิจ ซึ่งกรุงศรีฯเองก็มีการลงทุนในสตาร์ตอัพ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ รองรับการเติบโตในระยะข้างหน้า”

กลยุทธ์ 3 RE เข้าสู่ธุรกิจใหม่หลังโควิด-19

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยากล่าวบรรยายหัวข้อ “Thailand Tomorrow : Finding NEXT Opportunities” กล่าวว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญ The great reset หลังจากวิกฤต ซึ่งจะมีธุรกิจที่เกิดและดับ โดยหากดูข้อมูลประวัติบริษัทชั้นนำจะเห็นว่ามีอายุขัยเฉลี่ยน้อยลง จากเดิมอายุ 40-50 ปี แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 15-20 ปี และหากดูวัฏจักรการเกิดและดับจะอยู่ที่ 15-20 ปีเช่นกัน ดังนั้น วันนี้เป็นโอกาสเดียวที่เผชิญการเปลี่ยนแปลง ที่จะทำให้ไปต่อหรือดับได้

โดยภายหลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 เผชิญคำว่า The great great reset ทำให้โลกมีการเปลี่ยนแปลงเกิดเมกะเทรนด์ด้วยกัน 6 ประกาศ คือ 1.การเกิดขึ้นของประเทศที่มีกำลัง เช่น จีน อินเดีย อาเซียน ซึ่งมีความต้องการไม่เหมือนเดิม 2.การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนอายุยืนมากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้ามีหลากหลายเจเนอเรชั่น  3.การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้การผลิตและการบริโภคคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

4.โลกที่มีความไม่แน่นอน ที่กระทบต่อการบริโภคและการผลิตเช่นเดียวกัน 5.เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลกมีการต่อสู้ ทำให้การค้าแตกเป็นวง ๆ มากขึ้น ไม่ใช่วงใหญ่วงเดียว และ 6.เทคโนโลยีดิสรัปชั่น ที่จะมีผลต่อชีวิตคนในอนาคต ดังนั้น จากเมกะเทรนด์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ จะทำให้หน้าต่างของโอกาสในการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ในอนาคตมีไม่มากนัก เนื่องจากคนเริ่มคุ้นชินกับการปรับตัว และเริ่มมีการจับจองการทำธุรกิจในทำธุรกิจหลังโควิด-19 แล้ว ทำให้พื้นที่ในการทำธุรกิจในอนาคตมีเหลือน้อยเต็มที่

ดังนั้น กลยุทธ์ในการรีเซตเพื่อเข้าสู่ธุรกิจใหม่ในการเติบโตหลังโควิด-19 จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ คือ 1.Reimagine จากเดิมการผลิตมีวงเดียว แต่หลังจากเศรษฐกิจเกิดใหม่ ทั้งจีน อินเดีย อาเซียน ทำให้มีการสร้างวงการผลิตของตัวเอง เรียกว่า Regional value chain ทำให้การทำธุรกิจในอนาคตจะกระจายมากขึ้น และ 2.Reflect จะต้องดูว่าการผลิตในราคาที่ดี มีคุณภาพ และมีกำไร ซึ่งจากข้อมูล OECD พบว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย เทียบกับขนาดโลกจากทั้งหมด 64 ประเทศไทยอยู่ที่อันดับที่ 35 ถือว่าไม่น่าเกลียด แต่ก็ไม่หล่อ ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์

และหากมองภาคการผลิตของไทยติดอันดับท็อป 15 ของโลก และหากดูรายการผลิตมีถึง 7 อุตสาหกรรมที่ติดท็อปของโลก เช่น ยาง อาหาร แต่มีหลายอุตสาหกรรมที่เราสูญเสียความสามารถการแข่งขันที่รวดเร็ว จากการเข้ามาแข่งขันบนเวทีโลกของประเทศต่าง ๆ มากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้ จะเป็นการช่วยออกแบบตามความต้องการของภูมิภาคนั้น โจทย์สำคัญคือ เรามีจุดอ่อนและแข็งไม่เหมือนกัน จะขยับซ้ายและขวาอย่างไรให้ไปต่อได้

“เราเก่งอะไร เรามีทรัพยากรที่ดี มีส่วนร่วม มีความยืดหยุ่นในการผลิต แต่ปัญหาคืออะไร เรามีปัญหาในการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศได้ สร้างมูลค่าเพิ่มได้ต่ำ อินโนเวตต่อไปไม่ได้มาร์จิ้นต่ำเรื่อย ๆ อดีต อุตสาหกรรมที่ไทยเก่ง เช่น อิเล็กทรอนิกส์ แต่เหล่านี้ตอบสนองความต้องการบนโลกเก่า แต่วันนี้ใช้ไม่ได้แล้ว ดังนั้น เราอาจต้องคิดใหม่ ว่าสินค้าที่ขายดีในอดีต แต่ไม่ได้แปลว่าในอนาคตจะขายได้”

สุดท้าย 3.Reset การรีเซตธุรกิจทำไม่ได้ง่าย เราจะอยู่รอดในโลกข้างหน้าได้ จำเป็นต้องพัฒนาองค์กรของเรา พัฒนาเครื่องมือ พัฒนาองค์ความรู้ขององค์กร เหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยองค์กรได้ นอกจากนี้ สิ่งที่จะช่วยคือการหาพาร์ตเนอร์ที่ดี ที่จะเข้ามาช่วยในการทำธุรกิจ หาตลาดใหม่ หาองค์ความรู้ใหม่ ซึ่งการหาพาร์ตเนอร์ชิปเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่ต้องคำนึงถึง

“การต่อยอดธุรกิจ ต้องผสมระหว่างการพัฒนาตัวเอง และหาเพื่อนร่วมทางคือการพาพาร์ตเนอร์ชิป ท่ามกลางการอยู่บนรอยต่อสำคัญ ที่จะเป็นโอกาสในการรีเซต รีอีเมจิ้นของการทำธุรกิจ และการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และต่อยอดธุรกิจ โดยที่สามารถอยู่รอดได้ในโลกอนาคต”