ประเมินสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่มีต่อทิศทางตลาด

รัสเซียอ้างกบฏขอแรงช่วยปราบยูเครน
Sputnik/Aleksey Nikolskyi/Kremlin via REUTERS
คอลัมน์ : เติมความคิด พิชิตการลงทุน 
ผู้เขียน : เอกภาวิน สุนทราภิชาติ บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS)

สวัสดีครับท่านนักลงทุน SET เคลื่อนไหวผันผวนแรงโดยก่อนหน้าขึ้นไปทำจุดสูงสุดในรอบ 30 เดือน บริเวณ 1,718 จุด ด้วยแรงหนุนจากการรายงานงบฯ 4Q64 และทั้งปี’64 ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนเติบโตโดดเด่น โดยกลุ่มอสังหาฯ วัสดุก่อสร้าง ท่องเที่ยว ICT เป็นกลุ่มที่กำไรโตทั้ง YOY และ QOQ ตรงข้ามกับกลุ่มเกษตร ยานยนต์ ที่กำไรลดลงทั้ง YOY และ QOQ

อย่างไรก็ตาม หลังการขึ้นไปทำจุดสูงสุดในรอบ 30 เดือน ตลาดได้ปรับตัวลงแรงจากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะการที่รัสเซียเปิดฉากใช้กำลังทางทหารโจมตียูเครน แม้จะมีความพยายามให้เกิดการเจรจาระหว่าง 2 ฝ่าย แต่ก็ไม่เป็นผล ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกรวมทั้ง SET ร่วงลงอย่างหนัก หลุดต่ำกว่า 1,700 จุด ขณะที่สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ และสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมัน ราคาพุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี

จากนั้น ดัชนี SET ฟื้นตัวกลับมาเคลื่อนไหวบริเวณ 1,700 จุด โดยส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยหนุน เรื่องเฟดที่จะขึ้นดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ตามถ้อยแถลงของประธานเฟดได้ส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% ใน มี.ค. น้อยกว่าที่ตลาดคาดว่าจะปรับขึ้น 0.5%

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังไม่ยุติ ทำให้มองดัชนีมีความผันผวนอยู่ โดยการประเมินสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทาง SCBS มองว่าจะไม่บานปลาย โดยรัสเซียจะปฏิบัติการทางทหารบุกยึดกรุง Kiev ให้ได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนการตอบโต้ของชาติมหาอำนาจทางตะวันตก (ยุโรป และสหรัฐ) จะไม่ใช้กำลังทางทหาร แต่จะใช้วิธีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบกับรัสเซีย โดยมุมมองของ SCBS ด้วยความน่าจะเป็นถึง 80% มองว่า สหรัฐและชาติตะวันตก จะกดดันให้ยูเครนยอมถอนใบสมัครเป็นสมาชิกนาโต้ พร้อมกับยอมให้ 2 แคว้นทางตะวันออกของยูเครนเป็นเอกราชตามที่รัสเซียรับรองก่อนหน้านี้ เพื่อแลกกับให้รัสเซียถอนทหารออกจากยูเครน หรืออาจเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดียูเครนจะลงจากตำแหน่ง และมีการเลือกตั้งใหม่ที่จะได้มาซึ่งผู้นำคนใหม่ที่เข้าข้างรัสเซีย

ส่วนในกรณีเหตุการณ์บานปลาย ทาง SCBS มองด้วยความน่าจะเป็นเพียง 20% จะเป็นกรณีที่สหรัฐและชาติตะวันตกเข้าช่วยเหลือทางทหารต่อยูเครน (อาจเป็นในรูปแบบการรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต้) ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์นี้จะทำให้สงครามยืดเยื้อ

อย่างไรก็ตาม มองกรณีนี้มีความเป็นไปได้น้อย หากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อจะกลับมากระทบต่อเศรษฐกิจของยูโรโซนและสหรัฐด้วย ทั้งนี้ จากมุมมองสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะไม่บานปลาย และแม้จะมีการปะทะที่รุนแรงบ้าง

แนวโน้ม SET มองแนวรับหรือกรอบล่างบริเวณ 1,650-1,660 จุด ยังน่าจะรองรับได้ ด้านกลยุทธ์การลงทุน ภายใต้ความเสี่ยงด้านความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน อีกทั้งจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น ยังสร้างความกังวลต่อมาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้น ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนแบ่งเป็นดังนี้ครับ

สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง แนะนำหาจังหวะลงทุนในช่วงที่ความผันผวนเพิ่มสูงขึ้น หรือหากดัชนีปรับลง ให้ใช้เป็นโอกาสเข้าซื้อสะสม แต่ผู้ที่รับความเสี่ยงได้ต่ำอาจชะลอลงทุนจนกว่าจะมีสัญญาณคลี่คลายในการเจรจาหยุดยิง โดยนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงและมองสถานการณ์ในยูเครนจะยืดเยื้อ แนะนำเก็งกำไรระยะสั้นในหุ้นน้ำมัน และถ่านหินอย่าง PTTEP และ BANPU (ใช้การเก็งกำไร และควรกำหนดจุด stop loss เพื่อจำกัดความเสี่ยง

โดยในกรณีสถานการณ์คลี่คลาย ราคาหุ้นมีโอกาสลงได้แรง (จากแรงขายทำกำไร) หรือหาจังหวะซื้อหุ้นหลังตลาดปรับลงแรงมาบริเวณ 1,650 จุด ในหุ้นที่คาดว่าจะเด้งแรงหากสถานการณ์คลี่คลายอย่าง KBANK, MINT, IVL, CRC, GPSC ส่วนนักลงทุนที่กังวลต่อประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน อาจจะพิจารณาหุ้นที่มีลักษณะเชิงรับอย่าง BEM, BDMS, BJC, ADVANC

“แล้วพบกันใหม่ ในคอลัมน์ฉบับหน้าครับ ด้วยรัก และหวังดี”