เงินบาทอ่อนค่า จับตา 3 ปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า

เงินบาท

เงินบาทอ่อนค่า ขณะที่หุ้นไทยร่วงลงท่ามกลางสัญญาณรุนแรงของวิกฤตยูเครน จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า สถานการณ์ตึงเครียดยูเครน-รัสเซีย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาทแกว่งตัวผันผวนในกรอบที่อ่อนค่า ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางสัญญาณตึงเครียดระหว่างยูเครน-รัสเซีย ทั้งนี้สหรัฐฯ และอียูประกาศตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT รวมถึงออกมาตรการคว่ำบาตรชุดใหม่ต่อเบลารุสซึ่งมีส่วนสนับสนุนรัสเซียบุกยูเครน ขณะที่กองกำลังทหารของรัสเซียยกระดับการโจมตีหลายเมืองในยูเครน และเข้ายึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียได้แล้ว

นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิพันธบัตรไทยของต่างชาติ 3.22 หมื่นล้านบาทในระหว่างสัปดาห์ด้วยเช่นกัน

ในวันศุกร์ (4 มี.ค.) เงินบาทปิดตลาดที่ 32.70 เทียบกับระดับ 32.51 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (25 ก.พ.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (7-11 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.40-32.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.พ. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือนม.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนมี.ค.

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการประชุม ECB จีดีพีไตรมาส 4/64 (final) ของยูโรโซน การกำหนดเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจจีนปี 2565 และตัวเลขเศรษฐกิจ อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวนและข้อมูลการส่งออกด้วยเช่นกัน

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยดิ่งลงหนักช่วงท้ายสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,671.72 จุด ลดลง 0.49% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 98,867.13 ล้านบาท ลดลง 1.14% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ร่วงลง 0.59% มาปิดที่ 630.96 จุด

หุ้นไทยแกว่งตัวผันผวนก่อนร่วงหนักปลายสัปดาห์ โดยแม้หุ้นไทยจะมีอานิสงส์จากแรงซื้อต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มพลังงานที่ได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวขึ้น ประกอบกับถ้อยแถลงของประธานเฟด สะท้อนว่าเฟดมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในการประชุมเดือนมี.ค. หากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ไม่สูงไปกว่าที่คาด

อย่างไรก็ดีหุ้นไทยร่วงลงอย่างหนักช่วงปลายสัปดาห์ตามตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนตึงเครียดมากขึ้น ประกอบกับมีปัจจัยลบจากสถานการณ์โควิดในประเทศ

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (7-11 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,655 และ 1,635 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,685 และ 1,705 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงการปรับน้ำหนักดัชนี MSCI และ FTSE

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขนำเข้าและส่งออกเดือนม.ค. ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.พ. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม ECB (10 มี.ค.) ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/64 ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.พ. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภค