ธปท.เพิ่มแรงจูงใจแบงก์ ปล่อยกู้ “ESG-ความยั่งยืน”

กังหันลม

 

ธปท.เล็งจูงใจธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้เพื่อ “สิ่งแวดล้อม-ความยั่งยืน” อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่หลายแบงก์แห่ตั้งเป้าขยายสินเชื่อ ESG “กสิกรไทย” เร่งเพิ่มสัดส่วนปล่อยกู้เพื่อความยั่งยืน ปักหมุดปี’73 แตะระดับ 2 แสนล้านบาท ชูโปรเจ็กต์ “GO GREEN Together” ดอกเบี้ยพิเศษ ฟาก “ไทยพาณิชย์” ยึดหลักการอีควอเตอร์ ตั้งเป้าปี’65 ปล่อยกู้ 2 หมื่นล้านบาท พร้อมเพิ่มผลิตภัณฑ์การลงทุน ESG ด้าน “กรุงศรี” ตั้งเป้าปี’73 ปล่อยสินเชื่อ 1 แสนล้านบาท เลิกสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน

นางสาววิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.มีแผนกำหนดทิศทางและบทบาทภาคการธนาคารในเรื่องความยั่งยืน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการเงินครัวเรือน โดยจะจัดทำ directional paper โดยปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดรูปธรรม ประกอบด้วย 1.การจัดหมวดหมู่กิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใต้นิยามเดียวกัน และ 2.ต้องสร้างแรงจูงใจ (incentive) ด้านต้นทุน เพื่อให้สถาบันการเงินทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งนี้ การดำเนินการต้องคำนึงถึงการให้ธุรกิจเอสเอ็มอี และธุรกิจในซัพพลายเชน สามารถปรับตัวได้ทันด้วย

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทย ได้บรรจุเรื่อง ESG (การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล) ไว้ในแผน 3 ปีของสมาคม โดยได้สำรวจการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ของธนาคารสมาชิก เพื่อประเมินว่าภาคธนาคารจะไปในทิศทางใด และภายในปีนี้สมาคมจะประกาศเจตนารมณ์ออกมา

ทั้งนี้ ในปี 2563 แบงก์มีการปล่อยสินเชื่อที่เกี่ยวกับ ESG ราว 1.68 แสนล้านบาท คิดเป็น 0.59% ของสินเชื่อทั้งระบบ มูลค่า 28.4 ล้านล้านบาท และปี 2564 ยอดปล่อยสินเชื่อ ESG เพิ่มเป็น 3.66 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 115% แม้จะขยายตัวสูง แต่ถือว่ายังมีสัดส่วนที่น้อย จึงเป็นโอกาสที่จะพาลูกค้าไปสู่ ESG ได้อีกมาก

Advertisment
ขัตติยา อินทรวิชัย
ขัตติยา อินทรวิชัย

“ESG ถ้าทำกันทั้งประเทศยิ่งมีพลัง โดยในมุมลูกค้าหรือผู้กู้ อย่างเช่น เอสเอ็มอี ก็ต้องพยายามปรับเปลี่ยน ภาครัฐก็ต้องกำหนดนิยาม net zero carbon จะไปในทิศทางใด เพื่อให้ถูกต้องตามมาตรฐาน และผู้ลงทุนที่ทำดีจะต้องได้ดี อาจได้อัตราดอกเบี้ยที่ถูก หรือผู้บริโภคก็ต้องเปลี่ยน ในมุมธนาคารจะเตรียมสินเชื่อไว้ เพื่อผลักดันให้ประเทศไปพร้อมกัน” นางสาวขัตติยากล่าว

นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในปี 2565 ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ ESG ที่ราว 2.5 หมื่นล้านบาท และกำหนดเป้าหมายระยะยาวภายในปี 2573 ในการสนับสนุนการไปสู่ความยั่งยืนไม่น้อยกว่า 1-2 แสนล้านบาท เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

“ปี 2564 กสิกรไทยปล่อยสินเชื่อโครงการและเครดิตเชิงพาณิชย์ ลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางขึ้นไป ที่ผ่านการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG วงเงินราว 4.19 แสนล้านบาท และปล่อยสินเชื่อ green finance จำนวน 6.52 หมื่นล้านบาท ล่าสุด เราเปิดโครงการ GO GREEN Together เป็นธนาคารแรกที่ผลักดันให้เกิด green ecosystem ในประเทศ นำร่องแคมเปญ GREEN ZERO สินเชื่อพร้อมโปรโมชั่นพิเศษ เช่น สินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้า สินเชื่อบ้านเพื่อติดตั้งแผงโซลาร์ ให้ลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจ โดยเตรียมวงเงินไว้ 3,000 ล้านบาท” นายกฤษณ์กล่าว

นายเสถียร เลี้ยววาริณ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การสนับสนุนการเงินที่ยั่งยืน หรือ sustainable finance เป็นหนึ่งในเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของธนาคาร โดยในปี 2565 ธนาคารได้ยกระดับการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบตามหลักการอีควอเตอร์ (equator principles : EP) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับ และได้เตรียมวงเงินไว้ราว 2 หมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว หรือ ESG สำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม

Advertisment

และการเพิ่มผลิตภัณฑ์กองทุน ESG เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุนให้กับลูกค้า หลังจากปีก่อนมีกองทุนยั่งยืน 79 กองทุน มีสินทรัพย์ภายใต้บริหารจัดการ (AUM) รวม 3.95 หมื่นล้านบาท หรือ 7.3% ของ AUM ทั้งหมด

“ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เราพบว่าการเติบโตสินเชื่อสีเขียว หรือ ESG ขยายตัวกว่าที่คาด จากผลงานในปี 2564 ที่ใกล้บรรลุเป้าหมาย 3 ปีที่ตั้งไว้”

นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ภายในปี 2573 ธนาคารตั้งเป้าลดคาร์บอนไดออกไซด์จากการดำเนินงานของธนาคาร ลดการสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินจนเป็นศูนย์ โดยเตรียมวงเงินสนับสนุนโครงการด้านสังคมและความยั่งยืน วงเงินราว 5 หมื่นล้านบาทถึง 1 แสนล้านบาท