ดอกเบี้ยสหรัฐชี้ทิศหุ้น-บาท

คอลัมน์ ภาวะหุ้นเงินบาท

ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์ก่อน (17-20 ก.ค.) ภาพรวมแกว่งตัวในกรอบแคบ และมีมูลค่าการซื้อขาย (วอลุ่ม) เบาบาง ต้นสัปดาห์ (17 ก.ค.) นักลงทุนเลือกเล่นหุ้นกลุ่มพลังงาน ที่ได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบฟื้นตัว แต่ก็มีแรงเทขายหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) เข้ามากดดัน ทำให้ดัชนีปิดที่ 1,574.09 จุด ลดลง 3.70 จุด หรือ -0.23% วอลุ่ม 31,690.08 ล้านบาท

กลางสัปดาห์ (19 ก.ค.) เริ่มมีแรงซื้อหุ้น ที่คาดว่าจะประกาศงบการเงินงวดไตรมาส 2/2560 โดดเด่น และหุ้นปันผลสูง ทำให้ดัชนีปิดที่ 1,575.85 จุด เพิ่มขึ้น 4.33 จุด เพิ่มขึ้น +0.28% วอลุ่ม 36,282.82 ล้านบาท

ท้ายสัปดาห์ (20 ก.ค.) ดัชนีแกว่งตัวแคบ เพราะนักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มแบงก์ หลังจากที่ผิดหวังงบฯไตรมาส 2/2560 รวมถึงมีการขายหุ้นที่จะประกาศงบฯในช่วงสัปดาห์หน้า ซึ่งคาดว่าผลงานจะออกมาไม่ดีนัก ทำให้ดัชนีปิดที่ 1,575.28 จุด ลดลง 0.57 จุด หรือ -0.04% วอลุ่ม 41,763.05 ล้านบาท

ทั้งนี้ช่วง 4 วันทำการ (17-20 ก.ค.) นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 6,751.57 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 1,135.15 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 393.99 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 5,222.42 ล้านบาท

สำหรับสัปดาห์นี้ (24-28 ก.ค.) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) ประเมินกรอบดัชนีที่ 1,560-1,590 จุด ประเด็นที่ต้องจับตา ได้แก่ การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) วันที่ 26 ก.ค. 2560 นี้ ซึ่งแม้จะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ย แต่ก็คงต้องติดตามถ้อยแถลงต่าง ๆ รวมถึงติดตามผลประชุมของกลุ่มประเทศผู้ค้าน้ำมัน (โอเปก) ว่า จะมีนโยบายอย่างไร

ภาวะค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมา (17-21 ก.ค.) เคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่า ต้นสัปดาห์ (17 ก.ค.) เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.72/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากวันศุกร์ (14 ก.ค.) ที่ปิดตลาด 33.86/87 บาท/ดอลลาร์ฯ โดยดอลลาร์อ่อนค่าลง เพราะตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐไม่ดีอย่างที่คาดการณ์ไว้ เช่น ตัวเลขเงินเฟ้อ ดัชนีราคาผู้บริโภค ฯลฯ ก่อนค่าเงินบาทปิดตลาดที่ 33.71/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

กลางสัปดาห์ (19 ก.ค.) เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.63/65 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวจากวันก่อนหน้า (18 ก.ค.) ที่ 33.64/66 บาท/ดอลลาร์ โดยค่าเงินดอลลาร์ อยู่ในทิศทางอ่อนค่าเพราะได้รับแรงกดดันจากข่าวที่ว่ารัฐบาลของสหรัฐอาจไม่สามารถปฏิรูปกฎหมายด้านสุขภาพได้อย่างที่เคยพูดไว้ โดยตลาดจับตามองผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันพฤหัสบดี (20 ก.ค.) ก่อนค่าเงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 33.64/66 บาท/ดอลลาร์

ท้ายสัปดาห์ (24 ก.ค.) เงินบาทเปิดตลาดที่ 33.55 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวจาก0เมื่อวานนี้ (23 ก.ค.) ที่ 33.68 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแข็งค่าเล็กน้อย เพราะนักลงทุนกังวลต่อนโยบายการคลังของสหรัฐ ว่าจะทำไม่ได้ตามที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้มีแรงเทขายดอลลาร์ฯ โดยนักลงทุนยังคงจับตาการประชุมของเฟดวันที่ 24-28 ก.ค.นี้

สัปดาห์นี้ (24-28 ก.ค.) ธนาคารกรุงไทยคาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวเงินบาทที่ 33.30-33.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างสัปดาห์มีตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ได้แก่ จีดีพีของสหรัฐ จีดีพีของสหราชอาณาจักร และตลาดให้ความสนใจกับการประชุมเฟด หากมีสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง