ธนาคารใหญ่-เล็ก พาเหรดอวดกำไรไตรมาสแรกโตพุ่ง

ธนาคาร

ธนาคารพาณิชย์ แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1/2565 กำไรเติบโตดีทั้งเทียบไตรมาสก่อนหน้าและเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เหตุตั้งสำรองหนี้เสียลดลง-ปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น-บริหารค่าใช้จ่ายลดลง

วันที่ 21 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัปดาห์นี้เป็นช่วงการแจ้งผลประกอบการไตรมาส 1/2565 ของบรรดาธนาคารพาณิชย์ไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยล่าสุด มีรายงานแล้ว 5 แบงก์ พบว่า ทุกแบงก์ต่างมีกำไรเพิ่มขึ้น ทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และ เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว

กสิกรไทย โกยกำไรกว่า 1.1 หมื่นล้าน

ธนาคารกสิกรไทยและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ จำนวน 11,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 584 ล้านบาท หรือ 5.50% และ เพิ่มขึ้นจำนวน 1,310 ล้านบาท จากไตรมาส 4 ปี 2564 หลัก ๆ เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 3,618 ล้านบาท หรือ 12.86% จากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อซึ่งเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ

ส่วนใหญ่เกิดจากการให้สินเชื่อใหม่ตามยุทธศาสตร์ของธนาคารแก่ลูกค้าที่มีศักยภาพ และมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าโดยการเสริมสภาพคล่องให้ลูกค้าสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ปกติ รวมทั้งลูกค้าบางส่วนยังอยู่ภายใต้มาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ทำให้ธนาคารยังคงต้องมีการบริหารจัดการดอกเบี้ยค้างรับอย่างต่อเนื่อง

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 ธนาคารกสิกรไทยและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,133,248 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2564 จำนวน 29,849 ล้านบาท หรือ 0.73% ส่วนใหญ่เป็นการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 3.78%

ขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 158.33% เป็นระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

กรุงศรี กำไรพุ่งพันล้านจาก Q4/64

ธนาคารกรุงศรี รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2565 มีกำไรสุทธิจำนวน 7,418 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,033 ล้านบาท หรือ 16.2% จากไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 และเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2564 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 913 ล้านบาท หรือ 14.0% โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรจากการดำเนินงานและการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

ขณะที่เงินให้สินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 2.0% หรือจำนวน 38,194 ล้านบาท จากสิ้นปี 2564 จากความต้องการสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเติบโตถึง 3.9% และ 4.0% ตามลำดับ

โดยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.28% เทียบกับ 3.41% จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ลดลงจำนวน 502 ล้านบาท หรือ 5.7% จากไตรมาสที่สี่ของปี 2564 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากกิจกรรมทางธุรกิจของลูกค้าตามฤดูกาลในไตรมาสที่ผ่านมา

อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 42.7% ลดลงจาก 43.9% ในไตรมาสที่สี่ของปี 2564 สะท้อนถึงประสิทธิภาพการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เป็นไปตามเป้าหมายของอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้สำหรับปี 2565 ในช่วงกลางของ 40% และ อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 2.03% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 เทียบกับ 2.20% ณ สิ้นปี 2564
ส่วนอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) ยังคงแข็งแกร่งอยู่ที่ 18.25% เทียบกับ 18.53% ณ สิ้นปี 2564

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 มีสินเชื่อรวม 1.93 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.83 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.61 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 2,91 แสนล้านบาท หรือเทียบเท่า 18.25% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 13.32%

TTB กวาดกำไรกว่า 3 พันล้าน โต 15%

ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1/2565 โดยธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ หรือ PPOP 8,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากไตรมาสก่อนหน้า หนุนโดยการบริหารจัดการด้านต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านคุณภาพสินทรัพย์เป็นไปตามเป้าหมาย สัดส่วนหนี้เสียเมื่อเทียบกับสินเชื่อรวมลดลงมาอยู่ที่ 2.73% จาก 2.81% ในไตรมาสก่อน จึงทำให้การตั้งสำรองฯ ในไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 4,808 ล้านบาท ลดลง 4% จากไตรมาสที่แล้ว

หลังหักสำรองฯ และภาษี มีกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ 3,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากไตรมาส 4 ปี 2564 และ 15% จากไตรมาส 1 ปี 2564

ซีไอเอ็มบี ไทย กำไรโตพรวด 200%

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวด 3 เดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2565 มีกำไรสุทธิจำนวน 1,061.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 719.7 ล้านบาท หรือ 210.9% เมื่อเปรียบเทียบผลกำไรสุทธิของงวดเดียวกันปี 2564 สาเหตุหลักเกิดจากการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้นส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 14.0% และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 64.0% ในขณะที่รายได้จากการดำเนินงานลดลง 0.8%

โดยอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 อยู่ที่ 112.0% ลดลงจากสิ้นปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 117.5% ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 8,600 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1,500 ล้านบาท เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 31 มีนาคม 2565 มีจำนวน 5.36 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยง 21.9%โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ 15.9%

KKP กำไรไตรมาสแรกเติบโต 40%

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) รายงานว่า ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 1/2565 จำนวน 2,055 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2564 และมีกำไรเบ็ดเสร็จรวม จำนวน 1,954 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.6%

จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยหลักจากการเพิ่มขึ้นของผลประกอบการในส่วนของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ทั้งในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจการให้สินเชื่อ รวมถึงค่าใช้จ่ายสำรองที่ปรับลดลงตามคุณภาพของสินเชื่อที่ยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ดี

ทางด้านการตั้งสำรองธนาคารยังคงรักษาความรอบคอบระมัดระวังในการพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยธนาคารมีการสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นสำหรับไตรมาส 1/2565 เป็นจำนวน 1,066 ล้านบาท ปรับลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนตามคุณภาพสินเชื่อที่อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ดี

ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 1/2565 ปรับลดลงอยู่ที่ 2.9% จากสิ้นปี 2564 ที่อยู่ที่ 3.0% ทั้งนี้ ธนาคารมีอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับสูงที่ 181.2%

สำหรับเงินกองทุน ธนาคารยังคงมีสถานะเงินกองทุนอยู่ในระดับที่สูงและเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย โดย ณ สิ้นไตรมาส 1/2565 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 15.91%

ทิสโก้ กำไรโต-ตั้งสำรองลด

กลุ่มทิสโก้ รายงานว่า มีกำไรสุทธิ 1,795 ล้านบาท เติบโต 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากการปรับลดค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ด้วยระดับ NPLs ที่ลดลงกว่า 571 ล้านบาท มาอยู่ที่ 2.15% ต่อสินเชื่อรวม จาก 2.44% เมื่อสิ้นปี 2564 โดยบริษัทสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างตรงจุด

ด้านธุรกิจสินเชื่อกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในรอบ 2 ปี จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ หนุนให้เกิดความเชื่อมั่นในการขยายสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่ลูกค้ารายย่อยเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ด้วยปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง กลุ่มทิสโก้ยังคงนโยบายการทำธุรกิจอย่างรอบคอบรัดกุม (Prudent) โดยรักษาระดับเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่แข็งแกร่งถึง 262% และระดับเงินกองทุน BIS Ratio ที่ 24%

SCB กำไร 1.01 หมื่นล้าน

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารในไตรมาสแรกสะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่โดยรวมยังคงมีความเปราะบางและมีความแตกต่างในแต่ละภาคส่วน อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความท้าทายและความผันผวนอย่างต่อเนื่องเช่นนี้

ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบของธนาคาร โดยผ่านโครงการการปรับโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จภายใต้กรอบของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อให้ลูกค้าสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว ซึ่งในปัจจุบันยอดสินเชื่อภายใต้โครงการฯ (มาตรการสีฟ้า) มีจำนวน 249,000 ล้านบาท สุดท้ายนี้ ธนาคารมีความยินดีกับผลสำเร็จของการแลกหุ้นของธนาคารไปสู่บริษัท เอส ซี บี เอ๊กซ์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับการตอบรับคำเสนอซื้อหุ้นมากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ และฝ่ายจัดการมีความเชื่อมั่นที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะยาวจากการปรับโครงสร้างนี้

ทั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ของปี 2565 จำนวน 10,193 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลของการขยายตัวของฐานรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและการตั้งเงินสำรองที่ลดลง

ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองจำนวน 21,713 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 4.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยภายใต้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการลงทุนที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้วที่มีการปิดเมืองเป็นวงกว้าง

ในไตรมาส 1 ของปี 2565 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 24,744 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการบริหารต้นทุนทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและอัตราผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อที่ปรับตัวดีขึ้นในขณะที่สินเชื่อรวมขยายตัวเล็กน้อย

รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 12,960 ล้านบาท ลดลง 9.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลของการลดลงของรายได้จากเงินลงทุน และการชะลอตัวของธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 15,990 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเกิดจากกิจกรรมทางธุรกิจโดยรวมที่เพิ่มมากขึ้น อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของธนาคารอยู่ที่ 42.4% ในไตรมาส 1 ของปี 2565

ธนาคารได้ตั้งเงินสำรองในไตรมาส 1 ของปี 2565 จำนวน 8,750 ล้านบาท ลดลง 12.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ภายหลังจากที่ธนาคารได้ตั้งเงินสำรองไว้ในระดับที่สูงกว่าสภาวะปกติตลอด 2 ปีที่ผ่านมาอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ 3.70% ปรับตัวลดลงจาก 3.79% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564

ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารยังอยู่ในระดับสูงที่ 143.9% และเงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.6%

กรุงไทย กวาดกำไรสุทธิ 8,780 ล้านบาท โตพุ่ง 57%

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในไตรมาส 1 ปี 2565 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2564 แม้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความท้าทายอย่างต่อเนื่อง ธนาคารและบริษัทย่อยมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพโดยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 8,780 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยรายได้รวมขยายตัวทั้งจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.6 จากสินเชื่อที่เติบโตโดยธนาคารมุ่งเน้นสินเชื่อที่มีคุณภาพท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน ทั้งนี้ สินเชื่อเติบโตดีทั้งสินเชื่อภาครัฐ สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อรายย่อย อีกทั้ง ธนาคารมีการบริหารต้นทุนทางการเงินเป็นอย่างดีอย่างต่อเนื่อง และมีรายได้จากการดำเนินงานอื่นที่ขยายตัว

รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งลดลง ร้อยละ 3.5 ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 41.25 ลดลงจากร้อยละ 44.25 ในไตรมาส 1 ปี 2564

ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 5,470 ล้านบาท ซึ่งลดลงร้อยละ 32.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยังยึดหลักระมัดระวัง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะมีผลกระทบกับคุณภาพของสินทรัพย์

โดยมี NPLs Ratio อยู่ที่ร้อยละ 3.34 ลดลงจากร้อยละ 3.50 ณ สิ้นปีที่ผ่านมา และลดลงจากร้อยละ 3.66 ณ 31 มีนาคม 2564 ซึ่งอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดีอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรักษาระดับของ Coverage ratio ในระดับสูงกว่าสถานการณ์ปกติ โดยเท่ากับร้อยละ 173.6 เทียบกับร้อยละ 168.8 ณ สิ้นปี 2564 และร้อยละ 153.9 ณ 31 มีนาคม 2564

เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2564 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 77.6 จากไตรมาสที่ผ่านมา โดยรายได้รวมอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา ในภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงท้าทาย และการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธนาคารอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยลดลงร้อยละ 16.8 ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 41.25 ลดลงจากร้อยละ 49.16 ในไตรมาส 4 ปี 2564 ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยยังคงตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่ยังยึดหลักระมัดระวัง ถึงแม้ลดลงร้อยละ 33.6 จากไตรมาสที่ผ่านมา

ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง (งบเฉพาะธนาคาร) เท่ากับร้อยละ 16.34 และ ร้อยละ 19.67 ตามลำดับ อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย

อีกทั้งในเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา ธนาคารได้ออกตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนประเภทที่ 2 อายุ 10 ปี จำนวน 18,080 ล้านบาท ซึ่งได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ AA(tha) แนวโน้มคงที่ จากบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุนในประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของเงินกองทุน เพิ่มขีดความสามาถในการแข่งขัน และรองรับการขยายตัวของธุรกิจ

ธนาคารกรุงเทพ โชว์กำไร 7,118 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8%

ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 1 ปี 2565 จำนวน 7,118 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8% จากไตรมาส 1 ปี 2564 โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 10.4% จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินให้สินเชื่อ ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.11%

สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 16.1% ส่วนใหญ่จากกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดด้วยมูลค่ายุติธรรมลดลงตามสภาวะตลาด และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจากธุรกิจบัตรเครดิต และบริการประกันผ่านธนาคารและกองทุนรวม

ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง 1.6% ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 49.8% ทั้งนี้ ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 6,489 ล้านบาท

ธนาคารกรุงเทพยังคงดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ

ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,587,534 ล้านบาท อยู่ในระดับเดียวกับสิ้นเดือนธันวาคม 2564 โดยมีสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่เพิ่มขึ้นสุทธิกับการลดลงของสินเชื่อกิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.3%

ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและเพิ่มขึ้นเป็น 229.0%

ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 จำนวน 3,194,460 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2% จากสิ้นปีก่อน เป็นผลจากการที่ลูกค้ายังคงต้องการดำรงสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงในภาวะที่ยังมีความไม่แน่นอน
ทำให้อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 81.0%

ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ 19.5%, 16.0% และ 15.2% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด