กลยุทธ์ SMEs รับเหมาก่อสร้าง รับมือปัญหาต้นทุนวัสดุก่อสร้างสูง

ก่อสร้าง
คอลัมน์ : Smart-SMEs
ผู้เขียน : ttb analytics

ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจปี 2565 ที่ภาคธุรกิจเผชิญและต้องเร่งรับมือ คือ ต้นทุนแพงขึ้น ซึ่งเกิดจากภาวะ Supply Shocks และราคาพลังงานที่เข้าสู่ช่วงขาขึ้นเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่เคยเผชิญมาในอดีต

อย่างไรก็ดี ในมุมของผู้ประกอบการ ปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่างกันไป เช่น กลุ่มผู้ประกอบการผลิตหรือขายสินค้าโภคภัณฑ์อาจได้รับผลกระทบไม่สูง

เพราะสามารถส่งผ่านภาระต้นทุนไปยังผู้บริโภคได้เร็ว เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็น มีความผันผวนต้นทุนราคาที่สูง และมีระยะเวลาการขายต่อรอบสินค้าคงคลังที่สั้น เช่น สินค้ากลุ่มอาหารสดและน้ำมันเชื้อเพลิง

แต่ในส่วนของกลุ่มผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูปบางประเภทไม่สามารถปรับราคาได้ทันต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นไปแล้วจากระยะเวลาขายต่อสินค้าคงคลังที่นานกว่า และการขึ้นราคาสินค้าอาจลดทอนความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ในธุรกิจบางประเภทมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่การส่งผ่านราคาสินค้าอาจทำไม่ได้ หรืออาจทำได้ยาก เนื่องจากรายได้ถูกระบุเป็นจำนวนเงินคงที่ ณ วันทำสัญญา แต่การก่อสร้างเพื่อส่งมอบงานใช้ระยะเวลา

ซึ่งเป็นโจทย์ที่ทางผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างต้องบริหารจัดการตลอดระยะเวลางานก่อสร้างจนส่งมอบงานแล้วเสร็จ เพื่อรักษาสัดส่วนกำไรสำหรับผู้ประกอบการให้ตรงตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ให้ใกล้เคียงที่สุด

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ได้ประเมินผลกระทบของผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยใช้โครงสร้างต้นทุนก่อสร้างของผู้ประกอบการและแนวโน้มราคาวัสดุก่อสร้างในการประเมินว่า ราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวขึ้นในปี 2565 นี้ พบว่า ในช่วงภาวะปกติผู้รับเหมาก่อสร้าง จะมีต้นทุนสัดส่วนอยู่ที่ 85-90% ของรายได้

ซึ่งแยกออกเป็น 1) ต้นทุนทางตรง (ต้นทุนวัสดุก่อสร้าง, แรงงาน, ค่าจ้าง) ประมาณ 76-81% 2) ต้นทุนทางอ้อม (ค่าบริหารจัดการ, พนักงานประจำ, วัสดุสิ้นเปลือง) 8.7-9.2% และส่วนของกำไรอยู่ที่ 10-15% ของรายได้ แต่ในภาวะที่ราคาวัสดุก่อสร้างและค่าพลังงานปรับสูงขึ้น

โดยเฉพาะวัสดุเหล็กพื้นฐานปี 2564 เพิ่มขึ้น 33% คาดว่าปี 2565 จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 6% จึงทำให้ต้นทุนทางตรงและทางอ้อมจะขยับสูงขึ้นมีสัดส่วนประมาณ 83-89% และ 9.2-10% ของสัดส่วนรายได้ ตามลำดับ เป็นผลให้พื้นที่กำไรของผู้ประกอบการ SMEs อาจลดลงเหลือเพียง 1-8%

กำไรของผู้ประกอบการรับเหมา ที่มีทิศทางลดลงอาจส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินของกิจการ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดย่อมลงไป ที่มีรายได้จากสัญญารับเหมาแต่ละโครงการไม่สูง ttb analytics แนะผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง

เร่งปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือปัญหาต้นทุนก่อสร้างที่มีทิศทางขยับขึ้นต่อเนื่อง เพื่อรักษาสัดส่วนกำไรและมาตรฐานดำเนินงานก่อสร้าง ดังต่อไปนี้

พิจารณาถึงผลของราคาในอนาคต ธรรมชาติของงานรับเหมาก่อสร้าง รายได้จะถูกตกลง ณ วันรับสัญญา ซึ่งส่วนใหญ่จะประเมินต้นทุนจากช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้สัดส่วนกำไรที่ผู้ประกอบการได้รับอาจลดลงเหลือเพียง 1-8% ของราคาที่ตกลงไว้จากผลราคาต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่ขยับตัวเพิ่มสูง

หรือในกรณีที่ต้นทุนดังกล่าวยังเพิ่มสูงต่อเนื่องในปี 2565 นี้ อาจส่งผลต่อการขาดทุนในโครงการที่ได้รับมอบงานมาได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างควรเสนอราคาที่มีการรองรับเรื่องความผันผวนของราคาในอนาคต เพื่อรักษาสัดส่วนกำไรรองรับต้นทุนที่มีทิศทางปรับตัวขึ้นค่อนข้างสูง

เร่งส่งมอบงานให้เร็วที่สุด จากราคาวัสดุก่อสร้างที่มีทิศทางปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อรักษาสัดส่วนกำไรให้ใกล้เคียงคาดการณ์ที่สุด ผู้ประกอบการควรเร่งส่งมอบงานให้เร็วที่สุด

เพื่อรักษาส่วนต่างราคาต้นทุนวัสดุก่อสร้างให้แคบลงที่สุดนับจากวันเสนอราคา รวมถึงการเร่งส่งมอบงานให้เร็วขึ้นอาจช่วยลดต้นทุนทางอ้อมได้ 2.3-3.7% สามารถย้อนกลับเป็นกำไรส่วนเพิ่มเพื่อชดเชยภาระต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นได้บางส่วน

ลดข้อผิดพลาดให้น้อยที่สุด พยายามนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในงานก่อสร้างมากขึ้น เช่น การใช้โปรแกรมออกแบบงานก่อสร้างที่สามารถดูข้อมูลงานก่อสร้างได้ชัดเจน เพื่อทำให้การประเมินราคาใกล้เคียงมากขึ้น รวมถึงแบบก่อสร้างที่ละเอียดช่วยลดความคลาดเคลื่อนในความเข้าใจที่ต่างกันระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้รับเหมา

อันอาจกระทบต่อระยะเวลางานก่อสร้างที่ยาวนานขึ้น นอกจากนี้ ควรประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์ เช่น ผนังสำเร็จ เพื่อลดเวลางานก่อสร้างและลดข้อผิดพลาดอันเกิดจากแรงงานให้น้อยที่สุด เพื่อลดต้นทุนการแก้ไขงานที่อาจกระทบต่อสัดส่วนกำไรให้ลดลง ?