คลังเว้นภาษีเงินได้หนุน “สตาร์ตอัพ” อีก 1 ปี หลังพบธุรกิจเกิดใหม่ใช้สิทธิประโยชน์ภาษีน้อยมาก

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2560 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรายใหม่ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561

ปัจจุบันกระทรวงการคลังได้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรายใหม่ โดยยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ที่มีคุณสมบัติและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 637) พ.ศ. 2560 ซึ่งจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิ 5 รอบระยะเวลาบัญชี นับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดี

ดังนั้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรายใหม่อย่างต่อเนื่อง คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบให้มีการขยายระยะเวลาการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องมีคุณสมบัติและเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว โดยสรุปดังนี้

1.บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึง
วันที่ 31 ธันวาคม 2561

2.มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท

3. มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการของกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กำหนดและได้ให้การรับรอง หรือรายได้เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายได้ทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

ทั้งนี้ เนื่องจากพบว่า ที่ผ่านมายังมีสตาร์ทอัพใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้น้อย โดยมีจำนวน 49 ราย (ณ 22 ธ.ค.2560) ที่ยื่นขอให้ สวทช. รับรอง และมีเพียง 32 รายที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากรมสรรพากรแล้ว