สลากดิจิทัล เขย่าวงการลอตเตอรี่ หวยเกินราคาจะสูญพันธุ์ หรือไม่?

สลากดิจิทัล

“สลากดิจิทัล” สร้างปรากฎการณ์ใหม่ ให้คนสามารถซื้อหวยในราคา 80 บาทได้จริง หลังจากวันที่ 2 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดจำหน่ายลอตเตอรี่ บนแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” จำนวน 5,279,500 ล้านใบ 2 วันแรก มีคนแห่เข้ามาซื้อกว่า 9.12 แสนคน จำหน่ายสลากไปแล้วกว่า 3.76 ล้านใบ

ทั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่สำนักงานสลากฯ จะสามารถทำให้หวยเกินราคาสูญพันธุ์ได้จริงหรือไม่ หรืออาจจะไม่ได้ผลเหมือนกับหลายวิธีที่เคยทำมา เพราะจำนวนสลากที่นำมาขายบนดิจิทัล มีเพียง 5% ของจำนวนสลากทั้งหมดที่ขายบนท้องตลาดเท่านั้น

โดยการแก้ปัญหาหวยแพงที่สำนักงานสลากฯ พยายามเร่งดำเนินการมาตั้งแต่อดีต แม้ใช้สารพัดวิธี แต่ปัญหายังวนอยู่ลูปเดิม ผู้ค้าสลากสามารถ “รวมชุด” ลอตเตอรี่ เพื่อขายอัพราคาเพิ่มได้ และหนักที่สุด คือ ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด เกิดการขายฝากลอตเตอรี่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ทำให้สลากมีราคาสูงขึ้นมาก

กระทั่งมีการเดินหน้าแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเข้มข้นขึ้น สำนักงานสลากฯ ได้กำหนดโรดแมป ในการดำเนินการแก้ไขปัญหา ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ได้แก่ การขยายจุดจำหน่ายโครงการสลาก 80 ,การเปิดรับสมัครลงทะเบียนในระบบซื้อ-จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 200,000 ราย และการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลผ่าน “สลากดิจิทัล”

ประกอบกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาเกินกว่าที่กำหนดในสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยมี นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา เพื่อลงไปตรวจสอบแพลตฟอร์มขายสลากออนไลน์

ปัจจุบันคณะกรรมการชุดดังกล่าว ร่วมมือกับสำนักงานสลากฯ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เข้าปฏิบัติการตรวจค้นแล้ว 14 แพลตฟอร์ม ซึ่งพบตัวแทนจำหน่ายสลากทั้งระบบโควตาและระบบซื้อ-จองล่วงหน้า นำสลากมาสแกนและโพสต์ขายเกินราคาพบแพลตฟอร์มออนไลน์รวมกว่า 1.3 หมื่นราย จึงนำลอตเตอรี่ที่ยึดมา มาเปิดจำหน่ายบนแอปเป๋าตัง ในรูปแบบสลากดิจิทัล 5.2 ล้านใบในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี สำนักงานสลากก็มีอีกหนึ่งช่องทางในการจำหน่าย คือ โครงการ จุดจำหน่ายสลาก 80 บาท ซึ่งจะเพิ่มจุดจำหน่ายเป็น 1,000 จุด ทั่วประเทศไทย ได้ภายในเดือน ก.ค.2565 โดยจะมีลอตเตอรี่ 80 บาทวางขายเกือบทุกอำเภอ ทำให้คนที่ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ก็สามารถได้ และจะทำให้มีสลากราคา 80 บาท วางขายเพิ่มอีก 2.5 ล้านใบ รวมเบล็ดเสร็จแล้ว จะมีสลากราคา 80 บาท ทั้งหมด 7.5 ล้านใบ แต่ตัวเลขนี้ก็ยังไม่ถึง 50% ของจำนวนสลากทั้งหมดที่พิมพ์งวดละ 100 ล้านใบ

“สำนักงานสลากฯ อาจจะต้องเพิ่มสัดส่วนที่เยอะขึ้น เพื่อให้การขายลอตเตอรี่เกินราคาในท้องตลาดหมดไป เพียงแต่การเพิ่มสัดส่วน ก็จะมีผู้ค้าสลากได้รับผลกระทบ คือ “คนเดินขาย” ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่า ภาครัฐ หรือสำนักงานสลากฯ จะกล้าทำขนาดนั้น เพื่อปราบหวยแพงจากปัญหาเดิมๆ ให้สูญพันธุ์ไปหรือไม่”

ทั้งนี้ ในการจำหน่าย “สลากดิจิทัล” ก็ยังมีจุดบอดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจส่งผลเสียในระยะยาว ซึ่งสำนักงานสลากฯ จะต้องมีการเร่งแก้ไขปัญหาต่อไป

“สลากดิจิทัล” ไม่จำกัดจำนวนซื้อ มอมเมาประชาชน

โดยสังคมมีการวิเคราะห์ถึงปัญหาในระยะยาว ที่อาจเป็นการมอมเมาประชาชน เนื่องจากจุดบอดในการซื้อสลากดิจิทัลยังมีอยู่ เช่น สามารถซื้อสลากบนแอปได้โดยไม่กำหนดจำนวนใบ ซึ่งอาจจะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเสี่ยงโชคมากขึ้น เพราะสามารถตามหาตัวเลขเสี่ยงทายได้ง่ายขึ้น

ขณะที่พันโท หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ออกมากล่าว ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการมอมเมา เพราะปัจจุบัน ประชาชนที่ซื้อสลากตามแผงจำหน่ายก็สามารถซื้อได้แบบไม่จำกัดจำนวนอยู่แล้ว

พร้อมย้ำว่า สลากทุกใบเป็นของพ่อแม่พี่น้องตัวแทนรายย่อย ดังนั้น การจำหน่ายสลากดิจิทัล นอกจากประชาชนผู้ซื้อจะสามารถซื้อสลากได้ในราคาที่กำหนด คือ 80 บาทแล้ว ยังเป็นการช่วยส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมรายได้ให้กับพ่อแม่พี่น้องที่เป็นตัวแทนรายย่อยอีกด้วย

“กองสลากพลัส” ท้วงเลียนแบบ เปิดทางกรุงไทยรับประโยชน์

ขณะเดียวกัน ในฝั่งแพลตฟอร์มออนไลน์ อย่าง “กองสลากพลัส” ก็ได้แสดงความไม่พอใจที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลดำเนินโครงการดังกล่าว โดยอ้างว่าทำแพลตฟอร์มเลียนแบบกองสลากพลัสของตนเอง อีกทั้งถูกตัวแทนจำหน่ายสลากดิจิทัลรายหนึ่งไปตั้งชื่อร้านใช้ชื่อว่า “กองสลากพลัส” เลียนแบบแพลตฟอร์มของตน

นอกจากนี้ ยังแสดงความคิดเห็นถึงการขึ้นเงินรางวัล ที่ธนาคารกรุงไทยจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ เพราะแอปเป๋าตังบังคับให้ขึ้นรางวัลที่กรุงไทยเท่านั้น ถ้าไม่มีบัญชีกรุงไทย ต้องเปิด อาจจะต้องเปิดบัตร ATM งานนี้กรุงไทยรับเต็มๆ 5 ล้านใบ ตีเป็นเงินถูก 250 ล้าน กรุงไทยได้งวดละ 250,000 บาท เงิน 250,000 บาท นี่เป็นเงินที่ได้จากประชาชนผู้ถูกรางวัล

“ดร.พิพัฒน์” KKP แนะกระจายขายหวยทุกแพลตฟอร์มออนไลน์

ด้านดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) โพสต์เฟซบุ๊ก “Pipat Luengnaruemitchai” แสดงความคิดเห็นถึงแนวทางในการแก้ปัญหา ว่า วิธีแก้ปัญหาสลากราคาแพงที่ได้ผลที่สุด นอกจากเพิ่มปริมาณสลากแบบเยอะๆ คือการตัดตัวกลางทิ้งไป เพราะการเข้าถึงผู้ซื้อคนสุดท้ายทำได้ง่ายขึ้นมาก เพราะเทคโนโลยี

คนออกคือกองสลากก็ได้เงินเข้ากระเป๋าเต็มเม็ดเต็มหน่วย คนซื้อก็ได้ของราคาถูก แน่นอนว่ามีปัญหาสองข้อ ที่ตัวกลางเคยทำหน้าที่อยู่

หนึ่ง คือการรับประกันการจำหน่าย ซึ่งถ้าขายเกินราคายังขายหมดทุกงวด ขายเท่าราคาสลากก็ควรจะหมดได้เหมือนกัน ถ้าการเข้าถึงผู้ซื้อทำได้ง่ายขึ้น

สอง คือการจับคนพิการเป็นตัวประกัน ที่มักอ้างกันว่าคนพิการจะไม่มีงานทำ คิดว่าถ้าดูกันจริงๆ คนที่ได้ประโยชน์จากโควต้าสลากกินแบ่งได้ไปเยอะกว่าคนขายคนสุดท้ายแน่ๆ เราเอาเงินที่กองสลากได้เต็ม
เม็ดเต็มหน่วยมากขึ้นเอาไปอุดหนุนกลุ่มเปราะบางที่เสียรายได้ (ชั่วคราว) แบบฟรีๆ ยังได้เลย

แน่นอนว่าคนขายสลากอาจจะเสียรายได้ และเสียอาชีพไป แต่อาจจะเป็นเทรนด์ที่เราห้ามไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีค่อยๆ ลดผลกระทบกันไป

ที่เหลือคือไงให้ไม่มีการผูกขาดกินรวบ ทำไงให้กระจายสลากได้ทุก online platform ไม่ว่าจะเป็น online banking, e-commerce platform หรือ digital wallet ต่างๆ ให้ต้นทุนถูกที่สุด กระจายได้กว้างที่สุด ปัญหามาเพีย และปัญหาสลากราคาแพงลดลงได้แน่ๆ

นักวิชาการชี้เลิกผูกขาดแอป “กรุงไทย” เปิดให้ซื้อได้ทุกธนาคาร

เช่นเดียวกันกับ น.ส. สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ที่แสดงความคิดเห็นว่าควรจะเปิดให้ซื้อได้จากแอพทุกธนาคาร โดยโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “Sarinee Achavanuntakul – สฤณี อาชวานันทกล” ว่า ความคืบหน้าเล็กๆ ค่ะ แต่ถ้าจะให้ดีกว่านี้และส่งเสริมการแข่งขันอย่างแท้จริง (ตามเจตนารมณ์ใน
รัฐธรรมนูญด้วย) คือ เลิกผูกขาดไว้กับแอพของกรุงไทยธนาคารเดียว แต่เปิดให้ซื้อได้จากแอพของทุก
ธนาคาร เหมือนชำระค่าน้ำ/ค่าไฟ/มือถือ

ข้อเสนอแนะเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่สำนักงานสลากฯ และ รัฐบาลควรต้องรับฟัง หากจะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากขึ้น ก็น่าจะลองดูอีกสักตั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้มี “เสือกองสลาก” กลายพันธุ์รุ่นใหม่ ๆ เกิดขึ้น กลายเป็นปัญหาวนลูปไม่รู้จบอีกต่อไป