คลังหนุนพิโกไฟแนนซ์กู้แบงก์ ส่วนต่างดบ.คุ้ม/ลั่นปี”61ล้างหนี้นอกระบบ

คลังปลื้ม “พิโกไฟแนนซ์” ไปได้สวย ชี้หนุนเป้าหมาย “หนี้นอกระบบเป็นศูนย์” ภายในปี 2561 แนะช่องผู้ประกอบการทำแผนธุรกิจแจ่ม แบงก์พร้อมปล่อยกู้ เผยปัจจุบันคลังอนุญาตประกอบธุรกิจแล้ว 209 ราย จากที่ยื่น 418 ราย แจง “โคราช-กทม.-ร้อยเอ็ด” ยื่นขออนุญาตมากสุด

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การดำเนินการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ (สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ) ถือว่ามีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจมาก โดยมีการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น และเป็นหนี้เสีย (NPL) ต่ำ ซึ่งธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ สอดรับกับเป้าหมายรัฐบาลที่ตั้งไว้ว่า จะทำให้หนี้นอกระบบเป็นศูนย์ภายในปี 2561 นี้

“ผมได้เดินทางไปทำเรื่องหนี้นอกระบบที่จังหวัดพังงา ภูเก็ต และกระบี่ ซึ่ง 3 จังหวัดนี้มีผู้เป็นหนี้นอกระบบไม่มาก 4,000-5,000 ราย ทางผู้ว่าราชการจังหวัดก็รับปากว่า ภายใน 3 เดือน คนเป็นหนี้นอกระบบจะหมดไปจากจังหวัด หนี้นอกระบบจะเป็นศูนย์ โดยจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดแรก” นายสมชัยกล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2559 ซึ่งกระทรวงการคลังเปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ จนถึงสิ้นเดือน พ.ย. 2560 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตแล้ว 418 ราย ใน 66 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด ได้แก่ นครราชสีมา 42 ราย กรุงเทพมหานคร 34 ราย และร้อยเอ็ด 27 ราย

โดยมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจแล้ว 209 ราย ใน 53 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้ได้เปิดดำเนินการแล้ว 116 ราย ใน 42 จังหวัด และมีผู้ปล่อยสินเชื่อแล้ว 87 ราย ใน 40 จังหวัด โดย ณ เดือน ต.ค. 2560 มีสินเชื่ออนุมัติสะสม 4,849 บัญชี เป็นเงิน 131.33 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ย 27,084.55 บาทต่อบัญชี

โดยการอนุมัติสินเชื่อ แบ่งเป็น สินเชื่อแบบมีหลักประกัน 2,822 บัญชี เป็นเงิน 88.01 ล้านบาท คิดเป็น 67.02% ของจำนวนสินเชื่อที่อนุมัติ และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน 2,027 บัญชี เป็นเงิน 43.32 ล้านบาท คิดเป็น 32.98% ของจำนวนสินเชื่อที่อนุมัติ โดยมียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 2,514 บัญชี เป็นเงิน 63.52 ล้านบาท

นอกจากนี้ มีสินเชื่อที่ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน จำนวน 155 บัญชี เป็นเงิน 4.60 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.25% ของสินเชื่อคงค้างรวม และมีสินเชื่อค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน (NPL) จำนวน 9 บัญชี เป็นเงิน 0.36 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.56% ของสินเชื่อคงค้างรวม

สำหรับกรณีผู้ประกอบการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์บางราย เรียกร้องขอให้กระทรวงการคลังช่วยจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับนำไปใช้ดำเนินธุรกิจพิโกไฟแนนซ์นั้น ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า ผู้ประกอบการสามารถหาแหล่งเงินได้เองอยู่แล้ว จะกู้จากธนาคารไปปล่อยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ต่อก็ได้ ซึ่งทางภาครัฐไม่ได้ห้าม อย่างเช่น ธนาคารออมสิน ก็พร้อมปล่อยกู้ให้

“กู้แบงก์ก็ได้ กู้มาแล้วปล่อยต่อ คิดดอกเบี้ยได้ตั้ง 36% ขณะที่จ่ายดอกเบี้ยแบงก์แค่ 7-8% ดังนั้นจึงอยู่ที่ว่าแผนธุรกิจเขาดีหรือเปล่า ถ้าดีแบงก์ก็ปล่อย แล้วเราก็ไม่ได้ห้าม เขาสามารถไปกู้เองได้เลย” ปลัดกระทรวงการคลังกล่าว

ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวด้วยว่า สำหรับการที่ผู้ประกอบการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์มีการรวมตัวกันในลักษณะเป็นชมรม ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งตนเห็นด้วย และได้รู้จักกับผู้ที่เป็นประธานชมรมแล้ว โดยได้กำชับให้ในชมรมมีการควบคุมกันเองด้วย เพราะภาครัฐจะมีการเข้าไปตรวจในภายหลัง