กระจายความเสี่ยงผ่านสินทรัพย์ทางเลือก เพื่อรับภาวะเงินเฟ้อสูง

เจอโรม พาวเวลล์
REUTERS/Brendan McDermid
คอลัมน์ : ลงทุนทั่วโลก
ผู้เขียน : คณาวุฒิ ทรงวัฒนา บริษัทหลักทรัพย์ ไพน์ เวลท์ โซลูชั่น

ในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) รอบเดือน พ.ค.นี้ คุณเจอโรม พาวเวลล์ ประธานของเฟด เริ่มต้นแถลงการณ์ว่า “เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเกินไป” เป็นคำพูดที่บ่งบอกได้ดีว่าความเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตามอง คือ เงินเฟ้อของสหรัฐ ที่อยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 40 ปี ซึ่งส่งผลให้เฟดต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในปีนี้เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ โดยภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงตอนนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงในสหรัฐเท่านั้นยังเกิดขึ้นพร้อมกันในหลายที่ทั่วโลกอีกด้วย

เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจึงเป็นสิ่งที่ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ต้องเผชิญและส่วนใหญ่มีแนวโน้มปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้นเช่นเดียวกับเฟด โดยการกระทบดังกล่าวมีแนวโน้มกดดันให้สินทรัพย์ประเภทหุ้นและตราสารหนี้ มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่ไม่ดี โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นตราสารหนี้ระยะยาว ซึ่งได้รับผลกระทบจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้นและต้องรับรู้ราคาตลาด (mark to market) ที่ปรับตัวลดลง พอร์ตการลงทุนที่มีการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้เพียง 2 สินทรัพย์ ในภาวะปัจจุบันจึงไม่สามารถกระจายความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนในอดีต

ผลของการกระจายความเสี่ยงที่ลดลงเห็นได้จากผลตอบแทนของสินทรัพย์ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาโดยดัชนี MSCI ACWI เป็นตัวแทนของตลาดหุ้นทั่วโลก ณ วันที่ 5 พ.ค. ให้ผลตอบแทนขาดทุนประมาณ -11.63% เช่นเดียวกับดัชนี Bloomberg Global Aggregate เป็นตัวแทนของตราสารหนี้ระดับ investment grade ทั่วโลก ให้ผลขาดทุนประมาณ -11.51% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ซึ่งจะเห็นได้ว่าสินทรัพย์ทั้ง 2 ประเภทให้ผลตอบแทนติดลบไม่แตกต่างกัน พอร์ตการลงทุนที่มีการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้เท่านั้นจะให้ผลตอบแทนติดลบในช่วงต้นปีที่ผ่านมา การลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้เพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอสำหรับการจัดพอร์ตเพื่อการกระจายความเสี่ยงในภาวะปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงมีทางเลือกเพื่อช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการกระจายความเสี่ยงโดยการเพิ่มสินทรัพย์ทางเลือก (alternative asset) เข้าไปในพอร์ตการลงทุน

หนึ่งในวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายความเสี่ยงในช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง คือ การเพิ่มการลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ทางเลือกโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน, ทองคำ, แร่โลหะ,สินค้าเกษตร ซึ่งได้รับประโยชน์จากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับพอร์ตการลงทุนอีกด้วย

โดยดัชนี Bloomberg Commodity Index ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์สร้างผลตอบแทนไปได้ถึง 32.54% ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หากนักลงทุนมีการแบ่งสัดส่วนการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ก่อนแล้วจะเห็นได้ว่าสินทรัพย์ในส่วนนี้จะช่วยให้นักลงทุนสามารถปรับสัดส่วน (rebalance) พอร์ตการลงทุนได้ง่ายขึ้น

โดยปีนี้สินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการเกิด supply disruption โดยเฉพาะในกลุ่มของน้ำมันและโลหะพื้นฐาน (oil และ base metals) ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตามมาด้วยชาติตะวันตกที่คว่ำบาตรรัสเซียซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของโลก

การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ (หรือหุ้นที่มีความเกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์) มีแนวโน้มช่วยพอร์ตการลงทุนทั้งด้านการกระจายความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนให้พอร์ตการลงทุนได้ในช่วงที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง

สำหรับนักลงทุนอาจมองว่าสินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวนสูง ไม่สามารถลงทุนในสัดส่วนที่มากจนเป็นสัดส่วนหลักของพอร์ต (core portfolio) ได้ อาจพิจารณาถึงการกระจายความเสี่ยงไปสู่สินทรัพย์ทางเลือกอื่น เช่น REITs & Property Fund โดยเฉพาะกองทุนที่มีการลงทุนใน REITs & Property Fund ของไทยและสิงคโปร์ที่มีให้เลือกลงทุนภายในประเทศไทย ซึ่งมีความสามารถในการปรับขึ้นค่าเช่าตามเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับเป็นธุรกิจที่มีกระแสเงินสดค่อนข้างแน่นอนและได้รับแรงหนุนจากการทยอยเปิดประเทศ เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ช่วยให้นักลงทุนสามารถกระจายความเสี่ยงจากหุ้นและตราสารหนี้ได้

โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา กองทุน REITs & Property Fund ของสิงคโปร์ สร้างผลตอบแทนได้ -0.43% และของไทยสร้างผลตอบแทนได้ -5.08% ซึ่งปรับตัวลดลงน้อยกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ และหุ้นทั่วโลก โดยหากพิจารณาจากค่าสหสัมพันธ์ (correlation) พบว่า REITs & Property Fund ของไทยและสิงคโปร์ มีค่าสหสัมพันธ์กับดัชนี MSCI ACWI อยู่ที่ประมาณ 0.2 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กองทุน REITs & Property Fund สามารถใช้ในการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนได้ พร้อมกับมีปัจจัยบวกเกี่ยวกับการเปิดประเทศรออยู่ข้างหน้าเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกยังคงมีความเสี่ยงที่ต้องระวัง โดยในกลุ่มของสินค้าโภคภัณฑ์ สิ่งที่ต้องจับตาดู คือ พัฒนาการของการเกิดการสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน (supply disruption) และความต้องการใช้ของสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านั้น หากมีการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ supply disruption ได้ หรือความต้องการใช้ของสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลให้ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วได้ และสร้างผลขาดทุนให้กับพอร์ตการลงทุนได้

ในขณะที่การลงทุนใน REITs & Property Fund ของไทย นักลงทุนจะเผชิญกับสภาพคล่องที่ต่ำ ส่งผลให้ราคาของสินทรัพย์มีความผันผวนสูง การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกจึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องทำความเข้าใจก่อนการลงทุน และควรคำนึงถึงความเสี่ยงที่นักลงทุนสามารถรับได้ หรือนักลงทุนอาจขอคำแนะนำจากผู้ที่ให้คำปรึกษาด้านการลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญในสินทรัพย์ทางเลือกแต่ละประเภท

ทั้งนี้ ทางทีมกลยุทธ์ของบริษัทหลักทรัพย์ไพน์ เวลท์ โซลูชั่น ได้มีการให้คำแนะนำแก่นักลงทุนให้มีการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกประเภทต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นหุ้นที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น หุ้นกลุ่มน้ำมัน หุ้นกลุ่มเหมืองโลหะ และหุ้นกลุ่มเหมืองทองคำ สัญญาน้ำมันล่วงหน้า และ REITs & Property Fund ทั่วโลก ซึ่งโดยรวมแล้วกลยุทธ์ดังกล่าวสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนในช่วงที่ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง

โดยปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์ไพน์ เวลท์ โซลูชั่น กำลังมองหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นสินทรัพย์ทางเลือกประเภทที่เป็น private market เพื่อตอบสนองแก่นักลงทุนที่ต้องการหาผลตอบแทนส่วนเพิ่ม และกระจายความเสี่ยงในภาวะที่การลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ไม่เพียงพอต่อการสร้างผลตอบแทนและกระจายความเสี่ยงให้แก่พอร์ตการลงทุนในปีนี้ได้