กยศ.เล็งยืดเวลามาตรการช่วยลูกหนี้ช่วงโควิดถึงสิ้นปี’65

กยศ

กยศ.แจงคิดเบี้ยปรับผู้กู้ กรณีศาลพิพากษา เพียง 0.5% เล็งขยายเวลามาตรการออกไปอีกถึงสิ้นปี’65 ชี้ที่ผ่านมาชะลอฟ้องร้องดำเนินคดีลูกหนี้กว่า 1.8 แสนราย ยันกองทุนมีเงินเพียงพอ ปี’65 เตรียมงบฯ 3.8 หมื่นล้านบาท ปล่อยกู้นักศึกษา 6 แสนคน

วันที่ 16 มิถุนายน 2565 นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ฐานะประธานกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า กยศ.ให้โอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษา ไปแล้วกว่า 6.2 ล้านราย วงเงินรวมกว่า 6.92 แสนล้านบาท โดยกองทุนคิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% เท่านั้น แต่ในช่วงโควิดกองทุนก็ได้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาผลกระทบ สำหรับลูกค้าที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ เหลือ 0.01%

กฤษฎา จีนะวิจารณะ
กฤษฎา จีนะวิจารณะ

ส่วนกรณีที่มีข่าวระบุว่าเบี้ยปรับของกองทุนมีอัตราที่ค่อนข้างสูง ขอเรียนชี้แจงว่า ผู้กู้รายใดถูกดำเนินคดี ศาลจะพิพากษาให้ชำระเบี้ยปรับในอัตรา 7.5% ต่อปี อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรเทาผลกระทบโควิด ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา กยศ.ก็ได้มีมาตรการลดหย่อน โดยลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือเพียง 0.5% ต่อปี ขณะเดียวกันในช่วงโควิด กยศ.ยังได้ชะลอฟ้องร้องดำเนินคดีลูกหนี้กว่า 1.8 แสนราย คิดเป็นวงเงินเฉลี่ยรายละ 1.2 แสนบาท

“มาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืม กยศ. ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย. 65 บอร์ด กยศ. ก็จะมีการพิจารณาขยายเวลาดำเนินการมาตรการออกไปอีกจนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อบรรเทาภาระให้กับผู้กู้ยืม และยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการแก้กฎหมายใหม่ เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอีก รวมทั้งปลดล็อกในขั้นตอนของผู้ค้ำประกันเงินกู้ และสามารถแปลงหนี้ใหม่ได้ตามความสามารถในการชำระหนี้ด้วย”

สำหรับมาตรการดังกล่าว ได้แก่ มาตรการลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และต้องการปิดบัญชีในคราวเดียว, ลดเบี้ยปรับ 100% สำหรับผู้กู้ยืมเงินทุกกลุ่มที่ชำระหนี้ปิดบัญชี, ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ และ กยศ. ดำเนินการให้อัตโนมัติโดยผู้กู้ไม่ต้องแจ้งเพื่อเข้าร่วมมาตรการคือ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากเดิม 1% ต่อปี เป็น 0.01% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้

ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2565 กองทุนได้เตรียมเงินงบประมาณให้กู้ยืมจำนวน 38,000 ล้านบาท เพื่อรองรับนักเรียน นักศึกษา จำนวนกว่า 600,000 ราย ซึ่งเป็นวงเงินที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา และสามารถกู้ยืมได้โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ให้มีแหล่งทุนนำไปใช้เป็นค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายดำรงชีพ และพร้อมปล่อยกู้เพิ่มมากกว่านี้หากมีความต้องการมากขึ้น โดยจะใช้เงินสภาพคล่องของกองทุน ไม่เป็นภาระงบประมาณของรัฐบาล