วอลุ่มเทรดหุ้นหด นักลงทุนกังวล “เศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ” หันถือเงินสดเพิ่ม

หุ้น ทอง

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยสิ้นเดือน มิ.ย. 65 ดัชนี SET Index ปิดที่ 1,568.33 จุด ปรับลดลง 5.7% จากเดือนก่อนหน้า ลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยภูมิภาค ชี้เห็นสัญญาณวอลุ่มเทรดหุ้นหดตัว นักลงทุนกังวล “เงินเฟ้อ-เศรษฐกิจถดถอย-ภาวะดอกเบี้ย” หันถือเงินสดเพิ่ม ด้าน “ภากร” ผู้จัดการตลาดหุ้น แนะ 3 กลยุทธ์ลงทุนยามวิกฤต

วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมามูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันปรับตัวลดลงซึ่งเป็นผลมาจากการที่นักลงทุนหันมา “ถือเงินสด” มากขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ยังรอความชัดเจนในหลายเรื่อง ทั้งภาวะดอกเบี้ย, ราคาน้ำมัน, ความกังวลเศรษฐกิจถดถอย, ภาวะเงินเฟ้อ และ Growth Story ต่างๆ

โดยพบว่า 6 เดือนแรกดัชนีหุ้นไทย (SET Index) มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 87,342 ล้านบาท และในเดือน มิ.ย.65 มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 71,693 ล้านบาท ลดลงไป 26.2% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยวอลุ่มเทรดของนักลงทุนรายย่อยเดือน มิ.ย.ลดลงเหลือ 26,824 ล้านบาท จากเดือน พ.ค.ที่มีวอลุ่มเทรด 29,992 ล้านบาท

ทั้งนี้เชื่อว่าในช่วงที่เหลือของปีหากถึงเวลาที่ปัจจัยต่าง ๆ มีความชัดเจนมากขึ้นวอลุ่มเทรดก็น่าจะกลับเข้ามาได้ เพราะมูลค่าหุ้น(Valuation) ของหุ้นไทยตอนนี้ถือว่ายังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย รวมถึงยังเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยตอนนี้ยังไม่เกิดภาวะตลาดหมี(ติดลบ 20% นับจากต้นปี) เพราะสิ้นเดือน มิ.ย.65 ตลาดหุ้นไทยติดลบอยู่แค่ 5% เท่านั้น ประกอบกับมีแรงผลักดันจากกลุ่มการท่องเที่ยวและส่งออกที่ยังไปได้อยู่

Advertisment

สำหรับภาพรวมครึ่งปีแรก พบว่าสิ้นเดือน มิ.ย.2565 ดัชนี SET Index ปิดที่ 1,568.33 จุด ปรับลดลง 5.7% จากเดือนก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 ปรับลดลง 5.4% ลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยเผชิญปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนเข้ามากดดันอยู่ 3 เรื่องหลักๆ ประกอบด้วย 1.ธนาคารกลางทั่วโลกต่างลดการอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามาในระบบ ซึ่งทำให้สภาพคล่องโลกลดลง 2.ความขัดแย้งทางการเมืองที่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ราคาน้ำมันและอาหารสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทบต่อเศรษฐกิจและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนเป็นอย่างมาก และ 3.ผลกระทบจากสถานการณ์โควิดที่ยังไม่จบ

ซึ่งหากพิจารณาจาก 3 เรื่องนี้ถือว่าผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยน้อยเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่น ๆ  จึงประเมินว่าคงได้รับผลกระทบจากกระแสเงินทุนต่างชาติ (Fund Flow) ไหลออกน้อยกว่าตลาดหุ้นอื่น ๆ  เนื่องจากปัจจุบันสภาพคล่องในประเทศยังมีอยู่ในระดับสูง และความสามารถทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนกำลังดีขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคบริการและท่องเที่ยว จึงทำให้โอกาสที่ฟันด์โฟลว์ไหลออกจะน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งสะท้อนได้จากตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเงินทุนต่างชาติยังเป็นบวกอยู่กว่า 109,067 ล้านบาท

Advertisment

ขณะที่คำแนะนำต่อการลงทุนในยามวิกฤต มองว่าทุกครั้งที่เป็นวิกฤตจะมีโอกาสในช่วงที่ราคาสินทรัพย์ปรับตัว ซึ่งในส่วนของการลงทุนต้องดูให้ดีว่าความสามารถในการลงทุนของตนเองเป็นอย่างไร มีการบริหารความเสี่ยงเป็นอย่างไร โดยแบ่งออกเป็น 3 เรื่องหลักคือ 1.ต้องดูข้อมูลให้ดี ซึ่งหากมีอะไรเปลี่ยนแปลงอาจต้องมีการปรับพอร์ตการลงทุน เช่น การขายจากสินทรัพย์หนึ่งไปลงทุนอีกสินทรัพย์หนึ่งแทน เช่น จากหุ้นไปตราสารหนี้ หรือ ไปสินค้าโภคภัณฑ์ ป็นต้น

2.การจัดพอร์ตลงทุนต้องมีความชัดเจนว่าจะลงทุนในระยะเวลาแค่ไหนและคาดหวังผลตอบแทนอย่างไร รวมถึงสามารถรับความเสี่ยงได้แค่ไหนด้วย และ 3.ในแต่ละสินทรัพย์จะเลือกลงทุนอย่างไรบ้าง ซึ่งควรเลือกตามที่ชอบผลตอบแทนแบบไหน และบริหารความเสี่ยงได้ขนาดไหน

อย่างไรก็ตามทั้งหมดอาจปรึกษาที่ปรึกษาทางการเงินหรือศึกษาด้วยตนเองก็ได้ และอย่าลืมติดตามข่าวสารต่าง ๆ ว่ามีผลกระทบอย่างไรบ้างต่อการลงทุนของเรา เพราะหากมีผลกระทบที่รุนแรงหรือเปลี่ยนแปลงมาก ๆ ก็อย่าลืมปรับพอร์ต

นอกจากนี้ยังคาดว่าปัจจัยลบต่าง ๆ จะไม่กระทบต่อภาวะการระดมทุนในตลาดหุ้นมากนัก เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19ทและภาวะเศรษฐกิจไม่ดี แต่การระดมทุนก็ไม่ได้ถูกผลกระทบหรือกระทบน้อยมาก

จึงคาดว่าทั้งจำนวนบริษัทและมูลค่าการระดมทุนไอพีโอในปีนี้ไม่น่าแตกต่างจากช่วงปีก่อนๆ เพราะปัจจุบันยังมีบริษัทที่อยู่ในไปป์ไลน์อีกจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทกลาง และบริษัทเล็ก จึงคาดว่าไม่น่าจะมีบริษัทเลื่อนระดมทุนไอพีโอแต่อย่างใด เพราะบริษัทเหล่านี้มีความพร้อมในการขยายธุรกิจ