บสย.รีแบรนดิ้ง ดึงดิจิทัลตัวช่วยค้ำ SMEs

บสย.

ผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึง 30 ปีแล้ว นับตั้งแต่บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้ “พระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ. 2534” โดยภารกิจในช่วงที่ผ่านมา คือการทำหน้าที่ช่วยเหลือทางด้านหลักประกัน-เติมทุนให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

ล่าสุด ภายใต้การนำของ “สิทธิกร ดิเรกสุนทร” กรรมการและผู้จัดการทั่วไปคนใหม่ ประกาศพลิกโฉม/รีแบรนดิ้ง (rebranding) องค์กรแห่งนี้สู่ “beyond borders ก้าวข้ามทุกขีดจำกัด”

ผลดำเนินการ บสย.

โดยก้าวต่อไปข้างหน้า บสย.วาง 3 วัตถุประสงค์หลักไว้ คือ 1.สร้างภาพจำให้ชัดขึ้นใน 2 บทบาท ได้แก่ บทบาทการค้ำประกันสินเชื่อ โดยใช้ดิจิทัลเข้ามาช่วยในการดูแลและส่งมอบโปรดักต์และบริการ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อ ลดการพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบ โดยเฉพาะกลุ่มไมโครที่สามารถใช้หนังสือค้ำประกันของ บสย.แทนหลักทรัพย์ในการยื่นกู้กับธนาคาร ลดต้นทุนด้านเครดิต และบทบาทการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและให้ความรู้ทางการเงิน

2.ภาพลักษณ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่มีหลายรุ่น เช่น กลุ่มนักศึกษาที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจและเป็นเจ้าของกิจการ หรือกลุ่มสูงวัยที่ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจผ่านการเป็นแฟรนไชส์ เป็นต้น เพื่อให้คนกลุ่มเหล่านี้เข้าถึง บสย.ง่ายขึ้น

Advertisment

และ 3.ตอบโจทย์กระแสดิจิทัลดิสรัปชั่น (digital disruptions) เพื่อก้าวข้ามทุกขีดจำกัด สู่ทศวรรษใหม่ และสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่จากภายในสู่ภายนอก โดยใช้ดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อน เชื่อมโยงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งการบริการทางการเงินออนไลน์ (digital lending) และค้าขายออนไลน์ผ่านอีมาร์เก็ตเพลซ (e-Market place)

“ปีนี้ บสย.มีอายุครบ 30 ปี ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ บสย.พร้อมขับเคลื่อนองค์กรในทศวรรษใหม่ด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี เราจะ beyond borders ก้าวข้ามทุกขีดจำกัด ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดย บสย.จะใช้สัญลักษณ์ Infinity และโลโก้ใหม่ที่มีลักษณะเอียงและพุ่งขึ้นไปด้านบน สื่อถึงการเติบโตไปข้างหน้า เพื่อให้ดูรวดเร็วในยุคดิจิทัล ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงสู่บริบทใหม่” นายสิทธิกรกล่าว

ขณะที่ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง กล่าวว่า การรีแบรนดิ้งของ บสย.ครั้งนี้ เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงง่าย โดยที่ผ่านมา บสย.มีการปรับปรุงการทำงานต่อเนื่อง และดำเนินโครงการค้ำประกันแบบ PGS มาจนถึง PGS10 ที่กำลังจะออกมาเร็ว ๆ นี้

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังต้องการให้ บสย.กำหนดทิศทางให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของภาครัฐ ที่ต้องการส่งเสริมธุรกิจที่เป็น BCG (biocircular-green economy) ซึ่งจะเป็นธงนำ โดยแนวคิดนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ธุรกิจขนาดเล็กก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วม โดยเอสเอ็มอีทั้งประเทศมี 3 ล้านราย สามารถช่วยสร้างการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ให้กับประเทศเป็นสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 ของจีดีพีทั้งหมด ซึ่ง บสย.สามารถดูแลได้แล้วประมาณ 80-85%

Advertisment

“ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ BCG สามารถแยกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ธุรกิจที่เกี่ยวกับพลังงาน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ recycle เป็นต้น 2.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ (health care) และ 3.ธุรกิจที่ใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือ” รมว.คลังกล่าว

ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา กระทั่งปัจจุบัน บสย.มียอดค้ำประกันสินเชื่อสะสมกว่า 1.3 ล้านล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อมากกว่า 7.4 แสนราย รักษาการจ้างงานกว่า 11 ล้านอัตรา สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่า 5.7 ล้านล้านบาท

เฉพาะในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2564 บสย.เข้าไปช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีทุกกลุ่มรวมกันกว่า 2.2 แสนราย ในจำนวนนี้ เป็นผู้ประกอบการในกลุ่มเปราะบางมากถึง 73%

อย่างไรก็ดี ยังคงมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอีกมาก และกลุ่มเปราะบางที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินอีกกว่า 3 ล้านราย ซึ่งต้องอาศัยกลไกจาก บสย. ในการเข้าไปช่วยเหลือ

ในเร็ว ๆ นี้จะมีการเสนอโครงการค้ำประกัน PGS ระยะที่ 10 วงเงินอีก 1.5 แสนล้านบาท และโครงการค้ำประกันเอสเอ็มอีไมโครอีก 3.5 หมื่นล้านบาท ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เพื่อเดินหน้าภารกิจช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีต่อไป