“ดิสกัสติ้ง ฟู้ด มิวเซียม”…พิพิธภัณฑ์“อาหารที่ดูน่าขยะแขยงที่สุดในโลก”

พิพิธภัณฑ์ที่เพิ่งเปิดใหม่ที่เมืองมัลโม ประเทศสวีเดน มีความแปลกใหม่ตรงที่ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมเอา “อาหารที่ดูน่าขยะแขยงที่สุดในโลก” เอาไว้ ให้ผู้เข้าชมได้ชมกัน ในชื่อ “ดิสกัสติ้ง ฟู้ด มิวเซียม”

โดยอาหารที่น่าขยะแขยงที่สุดในโลกที่รวบรวมเอาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มีทั้งหมด 80 ชนิดด้วยกัน ซึ่งนอกจากการรวบรวมเอาอาหารที่น่าขยะแขยงจากทั่วโลกไว้ที่พิพิธภัณฑ์แล้ว ยังมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เข้าชมได้ตระหนักถึงเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารและทดสอบเกี่ยวกับทฤษฎีที่ว่า ความน่าขยะแขยงเป็นเรื่องของวัฒนธรรมและบริบท
เพราะอาหารบางอย่างที่เรามองว่าไม่น่ากิน อาจจะอร่อยสำหรับคนอื่นก็ได้

ซามูเอล เวสต์ ภัณฑารักษ์ และประธานของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เปิดเผยกับโลนลี แพลเน็ต ถึงเรื่องราวของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์นี้ว่า จะน่าสนใจแค่ไหนหากพิพิธภัณฑ์ไม่ได้จัดแสดงอาหารที่สวยที่สุดหรืออร่อยที่สุดในโลก แต่กลายเป็นอาหารที่น่าขยะแขยงที่สุดในโลก และหวังด้วยว่า พิพิธภัณฑ์จะสามารถสร้างความสนใจและยอมรับได้มากขึ้นเกี่ยวกับแหล่งที่มาของโปรตีนที่ยั่งยืนในระบบนิเวศ อย่างเช่น แมลง

“หลายคนรู้สึกขยะแขยงกับการกินแมลง หรือมีความสงสัยเกี่ยวกับเนื้อที่ถูกสร้างขึ้นในห้องแล็บ แล้วก็กลายเป็นความขยะแขยง แต่ถ้าเราสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดเกี่ยวกับอาหารว่า อันไหนน่าขยะแขยงหรือไม่น่าขยะแยง ก็อาจจะช่วยนำเราไปสู่การมีแหล่งโปรตีนที่ยั่งยืนได้” นายเวสต์กล่าว

ภายในพิพิธภัณฑ์ มีตั้งแต่ผลไม้ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก ไปจนถึง “ทรี เพนิส ไวน์” เหล้าจีนที่เป็นเครื่องดื่มเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ที่นำเอาอวัยวะเพศของสัตว์ 3 ชนิดมารวมไว้ในขวดเดียว คือของ กวาง แมวน้ำ และหมาดำ มาดองเป็นเหล้า

นอกจากนี้ ก็ยังมี “อวัยวะเพศของวัวกระทิง” “กระเพาะวัว” หรือแม้แต่ นัตโตะ หรือถั่วเน่าของญี่ปุ่น ก็ถูกนำมาจัดแสดงที่นี่ด้วย

รวมไปถึง “ทุเรียน” ที่ถูกนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์นี้ ในฐานะที่ผลไม้ที่ขึ้นชื่อว่า มีกลิ่นรุนแรง และหลายคนไม่ชอบ แต่ขณะเดียวกัน เป็นผลไม้ที่หลายคนชื่นชอบมากเช่นกัน
สำหรับพิพิธภัณฑ์อาหารที่ดูน่าขยะแขยงที่สุดในโลกแห่งนี้ จะเริ่มเปิดให้เข้าชมจำกัด ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมนี้ จนถึงปลายเดือนมกราคมปีหน้า

ดูแล้ว ก็ต้องพยายามทำใจว่า มันเป็นของที่กินได้จริงๆ เพียงแต่ คุณจะเลือกที่หน้าตา หรืออยากลิ้มลองรสชาติของมันก่อน

 

ที่มา  คอลัมน์แกะรอยต่างแดน/มติชนออนไลน์