ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ “เส้นทางแห่งพุทธศาสนา” ในปากีสถาน

Shaheen Buneri (Pakistan, 2011)

ก่อนหน้านี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “อาซิม อิฟติกาห์ อาหมัด” เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ประจำประเทศไทย เกี่ยวกับเรื่องทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-ปากีสถาน รวมไปถึงภาคการท่องเที่ยว โดยท่านทูตฯ ต้องการจะยกระดับความเข้าใจตั้งแต่ภาคประชาชนจนถึงระดับรัฐ และมองว่าการท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่สามารถสื่อสารสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนคนไทยได้มากขึ้น

และเมื่อเร็วๆ นี้ สถานเอกอัครราชทูตปากีสถานประจำประเทศไทย ได้ร่วมกับสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานเสวนาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในประเทศปากีสถาน โดยมีการเชิญเจ้าชายอัดนัน โอรังเซบ (Prince Adnan Aurangzeb) และศาสตราจารย์ ดร.มูฮัมหมัด อัชราฟ ข่าน (Prof Dr. Muhammad Ashraf Khan) เป็นผู้บรรยายในหัวข้อเรื่อง “แหล่งกำเนิดของอารยธรรมพุทธศาสนา”

“เจ้าชายอัดนัน โอรังเซบ” ได้กล่าวถึง “มรดกพระพุทธศาสนาแห่งปากีสถาน” โดยย้ำว่าแม้ประชากรส่วนใหญ่กว่า 200 ล้านคนในปากีสถานจะนับถือศาสนาอิสลาม แต่ปากีสถานก็ถือว่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางศาสนาของโลกเช่นกัน โดยที่ผ่านมามีการพบหลักฐานทางอารยธรรมมากมาย ชี้ชัดว่า ปากีสถานเป็นศูนย์กลางและเป็นอีกหนึ่งแหล่งต้นกำเนิดของพุทธศาสนาในยุคสมัยที่เคยรุ่งเรืองในอดีตกาล โดย “เมืองตักศิลา” แคว้นปัญจาบ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโกแล้ว

ทั้งนี้ ได้กล่าวถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง หนึ่งในนั้นก็คือ พิพิธภัณฑ์ตักศิลา ซึ่งได้เก็บรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับความเป็นอยู่และภูมิปัญญาของชาวตักศิลายุคต่างๆ เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น ซากสถูปเจดีย์ วัดวาอาราม และปฏิมากรรม แบบศิลปะคันธาระ เป็นจำนวนมาก

www.thehindu.com

เจ้าชายอัดนัน เป็นหลานชายของมูฮัมหมัด อายุบ ข่าน (Mohammad Ayub Khan) อดีตประธานาธิบดีแห่งปากีสถาน ซึ่งในราชตระกูลปกครองพื้นที่ใน “สวัต” (Swat) ในปากีสถานมานาน ภายใต้การปกครองของอังกฤษ (British Raj) สวัตเป็นรัฐที่มีอำนาจปกครองตนเองครอบคลุมพื้นที่ 8,000 ตร.กม. ขณะที่เจ้าชายอัดนันได้ดำรงตำแหน่ง “วาลิแห่งสวัต” (Wali of Swat) ตามธรรมเนียมการปกครองแบบดั้งเดิม

ด้วยความสนใจของเจ้าชายอัดนัน โดยเฉพาะด้านพุทธศาสนา จึงได้เดินทางเยือนประเทศพุทธศาสนาจำนวนมาก รวมทั้งประเทศไทย โดยจะเน้นที่การบรรยายเกี่ยวกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนตะวันตกเฉียงเหนือของอนุทวีปอินเดีย ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ของปากีสถานและอัฟกานิสถานตะวันออก นอกจากนี้ ยังกล่าวถึง “อารยธรรมคันธาระ” (Gandhara) และความเป็นมาของพุทธศาสนานิกายตันตระจากอาณาจักรอุดยานะ (Udyana) ในอดีตสู่ดินแดนสวัตในปัจจุบัน ซึ่งรุ่งเรืองเหนือดินแดนแถบเทือกเขาหิมาลัยและเป็นรากฐานของพุทธศาสนาแบบทิเบตในปัจจุบันด้วย

หุบเขาสวัต ในแคว้นไคเบอร์ปัคตุนควา ของปากีสถาน

นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญอีกหนึ่งท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.มูฮัมหมัด อัชราฟ ข่าน ซึ่งได้กล่าวบรรยายถึงเรื่อง “มรดกพระพุทธศาสนาแห่งคันธาระและอิทธิพลต่อพุทธศิลป์ในตะวันใกล้และตะวันออกไกล”

“คันธาระ” แปลว่า “ดินแดนที่มีกลิ่นหอม” เป็นชื่อเรียกดินแดนทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสินธุ ซึ่งในปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่หุบเขาเปศวาร์ (Peshawar valley) เขตสวัต เขตบูเนอร์ (Buner) และเขตบาโจร์ (Bajaur) จังหวัดไคเบอร์ปัคตูนควา (Khyber Pakhtunkhwa) ของปากีสถาน ซึ่งเป็นดินแดนที่รุ่มรวยอย่างมาก มีแม่น้ำหุบเขาและสภาพอากาศที่งดงาม และด้วยตำแหน่งที่ตั้งซึ่งอยู่ตรงชายแดนของอนุทวีปอินเดีย-ปากีสถาน และเอเชียตะวันตก

ดังนั้น คันธาระ จึงมีส่วนในการแผ่อิทธิพลต่อดินแดนโดยรอบ โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันอย่างดี เพราะมีการขุดค้นของนักโบราณคดี ซึ่งค้นพบพระพุทธรูปอันงดงามในพื้นที่อารามและสถูปของพุทธศาสนา

ศาสตราจารย์ ดร.มูฮัมหมัด เป็นอดีตผู้อำนวยการสถาบันตักศิลาของอารยธรรมเอเชีย แห่งมหาวิทยาลัยคูอิด อซาม (Quaid Azam) ในกรุงอิสลามาบัด ซึ่งเคยได้ร่วมขุดค้นและดูแลรักษาพื้นที่อารามของพุทธศาสนาหลายแห่งในปากีสถาน อีกทั้งยังมีผลงานการวิจัยหลายชิ้นเกี่ยวกับศิลปะและโบราณวัตถุแห่งคันธาระ

ทั้งนี้ ดร.มูฮัมหมัด กล่าวด้วยว่า “พุทธศาสนาในแคว้นคันธาระ” มีอิทธิพลและส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญของพุทธศิลป์แบบคันธาระ ไม่แค่เพียงมีอิทธิพลต่ออนุทวีปอินเดีย แต่ยังเผยแพร่อิทธิพลไปยังหลายๆ พื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศทิเบต ศรีลังกา เมียนมา ไทย อินโดนีเซีย รวมถึงตะวันออกกลาง จีน เกาหลี และญี่ปุ่นด้วย

หนึ่งในคำกล่าวของ เอกอัครราชทูต อาซิม เมื่อครั้งที่เคยกล่าวกับประชาชาติธุรกิจ ระบุว่า “อยากสร้างการรับรู้ให้กับเพื่อนคนไทย ปากีสถานไม่ได้มีดีแค่การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติเท่านั้น แต่เรายังมีการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ซึ่งการเดินทางท่องเที่ยวในเมืองตักศิลาในปัจจุบันถือว่าไม่ยากเหมือนเมื่อก่อนแล้ว อยู่ห่างจากกรุงอิสลามาบัดแค่ 32 กิโลเมตรเท่านั้น โดยถนนหนทางก็สะดวกสบาย รถยนต์จะวิ่งผ่านถนนสาย Grand Trunk Road (GT Rd.) ซึ่งบริเวณรอบๆ ข้างทางเส้นทางนี้ ถือว่ามีชื่อเสียงของปากีสถานเช่นกันด้วยความงามตามธรรมชาติ”

“คนปากีสถานแทบจะไม่แตกต่างจากคนไทยเลย มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ชอบช่วยเหลือ เป็นเจ้าบ้านที่ดี ที่สำคัญเรื่องความปลอดภัยซึ่งเชื่อว่ามีหลายๆ คนที่ยังกังวล ผมพูดได้ว่าปากีสถานเป็นประเทศที่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว ในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนประเทศจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นชาวยุโรป ดังนั้น ผมจึงหวังว่าการสร้างการรับรู้ที่ดีต่อคนไทยจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ให้กับปากีสถานต่อชนชาวไทยที่อยากมาเที่ยวปากีสถานได้” ท่านทูต อาซิม กล่าวทิ้งท้าย