ทช.ประชุมเข้มงานอนุรักษ์ “บิ๊กป้อม” มอบเข็ม “รักษ์ทะเลยิ่งชีพ” ผู้ทำประโยชน์ 31 ราย

วันที่ 19 มกราคม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2561 โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งผู้เข้าประชุมประกอบไปด้วยพลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองประธาน และผู้แทนหน่วยงานราชการ จำนวน 16 คน เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง รวมทั้งนายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกจำนวน 12 คน โดยอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นกรรมการและเลขานุการ รวมจำนวนทั้งสิ้นจำนวน 31 คน ที่ ห้องประชุมตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการฯ ชุดนี้ ถือเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ให้มีความเหมาะสม ตอบสนองต่อการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการประชุมครั้งนี้ โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1. แผนการดำเนินงานในการออกกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ ตามมาตรา 18 และ กำหนดมาตรการคุ้มครอง ตามมาตรา 23 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้แบ่งพื้นที่ป่าชายเลน ที่รับผิดชอบ ออกเป็น 48 กลุ่มป่า ใน 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล มีเนื้อที่รวมประมาณ 2.8 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพ 1.53 ล้านไร่ และป่าชายเลนแปรสภาพ 1.3 ล้านไร่ มีแผนการดำเนินงานประกาศพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ให้แล้วเสร็จทั้งประเทศ ภายในปี 2563

2.แนวทางการดำเนินงานประเมินสถานภาพทรัพยากรแนวปะการัง ทช. และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) ได้ร่วมมือกันในการจัดทำแผนและแนวทางสำรวจและติดตามประเมินสถานภาพทรัพยากรแนวปะการังของประเทศไทยโดยทุก 2 ปี 6 เดือน จะต้องรายงานผลสถานภาพทรัพยากรต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการแผนปฏิรูปประเทศ และทุก 1 ปี จะสำรวจปะการังและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในแนวปะการัง โดยจะแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ จำนวน 445 พื้นที่ คือ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล จำนวน 252 สถานี ดำเนินการโดย อส. และนอกพื้นที่อุทยานฯ จำนวน 193 สถานี ดำเนินการโดย ทช.

3.การบูรณาการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งร่วมกับ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล จากการสำรวจพื้นที่กัดเซาะชายฝั่ง ในปี 2560 พบว่า มีชายฝั่งที่ประสบปัญหาการกัดเซาะและยังไม่ได้รับการป้องกันและแก้ไขปัญหา ระยะทางประมาณ 145.73 กม. (ระดับรุนแรง 42.17 กม. ระดับปานกลาง 7.45 กม. และพื้นที่กัดเซาะน้อย 96.11 กม.) พื้นที่ที่อยู่ในระดับเร่งด่วน จำนวน 31 พื้นที่ ใน 16 จังหวัด ระดับปานกลาง 10 พื้นที่ และระดับเฝ้าระวัง จำนวน 85 พื้นที่

ทั้งนี้ หน่วยงานต่าง ๆ ได้เสนอแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 – 2565 ทั้งสิ้น 287 โครงการ วงเงิน 14,860.931 ล้านบาท ซึ่งจะต้องดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการแบบบูรณาการต่อไป

4.การออกกฎหมายลำดับรอง ตามมาตรา 16 ภายใต้ พรบ.ทช.58 เพื่อเป็นการสนับสนุนชุมชนชายฝั่งและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการบริหารจัดการ การปลูก การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทช. จึงได้จัดทำระเบียบ 4 ระเบียบคือ 1) ระเบียบกรม ทช. ว่าด้วยอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล พ.ศ. 25602) ระเบียบกรม ทช. ว่าด้วยเครื่องหมายเชิดชูเกียรติยศยิ่ง “รักษ์ทะเลยิ่งชีพ” พ.ศ. 25603) ระเบียบกรมทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนชุมชนชายฝั่ง พ.ศ. 25604) ระเบียบกรม ทช. ว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนชายฝั่งและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560

และในโอกาสเดียวกันนี้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้เกียรติ มอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติยศยิ่ง “รักษ์ทะเลยิ่งชีพ” แก่คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติจำนวน 31 ท่าน เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติแก่ผู้ที่ทำคุณประโยชน์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

โดยเครื่องหมายดังกล่าวใช้ประดับบนเครื่องแบบราชการหรือชุดสุภาพ บริเวณหน้าอกด้านขวาซึ่งเครื่องหมาย “รักษ์ทะเลยิ่งชีพ” นี้ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2560เล่ม 135 ตอนพิเศษ 11 ง หน้า 21 นอกจากนี้ในวันเดียวกันนี้ ราชกิจจานุเบกษา ยังได้ลงประกาศระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมกันอีก 3 ฉบับ ได้แก่ ระเบียบว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนชายฝั่งและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2560 ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนชุมชนชายฝั่ง พ.ศ.2560 และระเบียบว่าด้วยอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล พ.ศ.2560 อธิบดีจตุพรกล่าว